สส.ชวนทิ้งหน้ากากอนามัยให้ถูกที่ ลดปัญหาการจัดการขยะ
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะเห็นได้ว่า ความต้องการใช้หน้ากากอนามัยมีมากขึ้น นั่นหมายถึงในแต่ละวันปริมาณขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งมีจำนวนมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งหน้ากากอนามัยจัดได้ว่าเป็นขยะติดเชื้อ เนื่องจากปนเปื้อนด้วยเสมหะ น้ำลาย น้ำมูกของบุคคลผู้ใช้ และอาจยังปนเปื้อนเชื้อโรคจากบุคคลที่ป่วยหรือผู้เป็นพาหะนำโรคได้
.
ปริมาณขยะหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมากจึงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้ หากมีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง เพราะนอกจากหน้ากากอนามัยจะเป็นขยะติดเชื้อแล้ว ยังมีองค์ประกอบที่ผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายยาก อย่างพอลิโพรไพลีน (Polypropylene : PP) ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่ง ที่นำมาขึ้นรูปให้เป็นเส้นใยสังเคราะห์ แล้วทอให้เป็นแผ่น รวมไปถึงลวดสำหรับปรับให้เข้ากับโครงจมูกก็ทำมาจากแผ่นพลาสติกขนาดเล็ก หรือลวดโลหะอลูมิเนียม
.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) จึงได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ และเป็นห่วงสุขภาพของพี่น้องประชาชน รวมทั้งระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยขอให้พี่น้องประชาชนทิ้งหน้ากากอนามัยให้ถูกที่เพื่อจะได้นำไปกำจัดได้อย่างถูกวิธี ลดปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม ตลอดจนลดต้นตอการแพร่กระจายเชื้อโรคในวงกว้าง
.
สำหรับการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ควรมีถังขยะติดเชื้อ หรือถังขยะเฉพาะสำหรับแยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว และควรมีฝาปิดถังขยะอย่างมิดชิด โดยวิธีการทิ้งที่ถูกต้องควรถอดหน้ากากออก โดยไม่สัมผัสด้านในของหน้ากาก จากนั้นพับหน้ากาก โดยเก็บส่วนที่สัมผัสกับหน้าให้อยู่ด้านใน แล้วม้วนสายรัดหรือสายที่คล้องหู พันรอบหน้ากาก ก่อนทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนอยู่ ที่สำคัญต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังทิ้ง โดยการกำจัดขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่ถูกต้อง ควรมีการเก็บขนอย่างมิดชิด และนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีตามกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ.2545 เช่น การเผากำจัดด้วยเตาเผาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นต้น
.
ขณะที่ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เราทุกคน ยังสามารถช่วยลดปริมาณขยะหน้ากากอนามัยให้น้อยลงได้ ด้วยการใช้ให้เหมาะสม เช่น ใช้เมื่อต้องเข้าไปในแหล่งชุมชนที่มีผู้คนหนาแน่น อยู่ในพื้นที่แออัด หรือใช้รถขนส่งสาธารณะ และที่สำคัญในภาวะที่เกิดการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เราสามารถใช้หน้ากากทางเลือก อย่างเช่น หน้ากากผ้าซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำในการป้องกันตัวเองได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งตรงนี้จะช่วยลดปริมาณขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วทิ้งลงได้ แต่ในการใช้ซ้ำหน้ากากผ้าจะต้องมีการซักให้สะอาด และอาจนำไปต้ม ก่อนตากแดดให้แห้งเพื่อฆ่าเชื้อโรค ก่อนนำกลับมาใช้อีก (Reuse)
.
อย่างไรก็ตาม การสวมหน้ากากอนามัยเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายมาตรการป้องกัน ที่ควรปฏิบัติควบคู่กันไป โดยเฉพาะการล้างมือบ่อยๆ ให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ แต่หากไม่มีน้ำและสบู่ให้ล้าง สามารถใช้เจลล้างมือหรือแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อได้ ซึ่งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำสูตรเจลล้างมือ Green Gel ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ด้วยการใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็น ไม่แต่งกลิ่น ไม่เพิ่มความหนืด แต่ได้ผลในการฆ่าเชื้อโรคเช่นเดียวกัน