ชุมชนคลิตี้ร้องศาลปกครองให้ตรวจสอบและหยุดการดูดตะกอนตะกั่วในลำห้วยชั่วคราวในช่วง COVID-19 ระบาด
หลังจากที่กรมควบคุมมลพิษได้เริ่มดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วตามคำพิพากษาตั้งแต่ปลายปี 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน กำลังดำเนินงานขั้นตอนการดูดตะกอนตะกั่วท้องน้ำใส่ถุงเพื่อนำไปฝังกลบในหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย
หลุมฝังกลบถุงตะกอนตะกั่วแบบปลอดภัย (ภาพ : สุทธิเกียรติ คชโส)
หลุมฝังกลบถุงตะกอนตะกั่วแบบปลอดภัย (ภาพ : สุทธิเกียรติ คชโส)
ในระหว่างที่มีการดูดตะกอน ชุมชนและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกรรมการไตรภาคีมีความห่วงกังวลว่าอาจจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้ตรวจวัดและติดตามเฝ้าระวังการฟุ้งกระจายของตะกอน โดยพบว่ามีการฟุ้งกระจายของตะกอนตะกั่วท้องน้ำจนเกิดความขุ่นเป็นระยะทางไกลถึง 4 กิโลเมตร และยังตรวจพบว่าน้ำที่รีดออกมาจากถุงเก็บตะกอนและไหลกลับลงไปในลำห้วยโดยตรงมีค่าตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานถึงเกือบ 100 เท่า ซึ่งจะมีน้ำและตะกอนที่ปนเปื้อนตะกั่วจำนวนมากในลำห้วยคลิตี้ รวมทั้งจากข้อมูลการตรวจวัดความขุ่นของน้ำหลังม่านดักตะกอนมีค่าสูงขึ้นกว่าค่าตามธรรมชาติถึงกว่า 10 เท่า หรือ เพิ่มขึ้นเกิน 1000% ซึ่งเกินกว่าที่ข้อกำหนด TOR การขุดลอกลำห้วยคลิตี้ฯ กำหนดว่าหากการขุดลอกตะกอนทำให้ความขุ่นเพิ่มขึ้นจากค่าฐานตามธรรมชาติเกิน 10% ให้หยุดขุดลอกชั่วคราวจนกว่าความขุ่นของน้ำจะกลับมาเป็นค่าตามธรรมชาติ ดังนั้น กรมควบคุมมลพิษ ควรสั่งให้ผู้รับจ้าง หยุดดำเนินการจนกว่าความขุ่นของน้ำจะกลับมาอยู่ในค่าใกล้เคียงกับค่าตามธรรมชาติ และตรวจสอบให้ผู้รับจ้างปฎิบัติตาม ข้อกำหนด TOR อย่างเคร่งครัด
ถุงเก็บตะกอนริมลำห้วย และการดูดตะกอนจากลำห้วยใส่ถุง geotextile (ภาพ : สุทธิเกียรติ คชโส)
ถุงเก็บตะกอนริมลำห้วย (ภาพ : สุรชัย ตรงงาม)
การดูดตะกอนจากลำห้วยใส่ถุง geotextile (ภาพ : สุทธิเกียรติ คชโส)
จากการดำเนินการดูดตะกอนตะกั่วดังกล่าวทำให้อาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนในระยะยาว และจะทำให้การฟื้นฟูดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วได้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากมีการฟุ้งกระจายของตะกอนตะกั่วจนเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการดำเนินการฟื้นฟูที่ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ การละเลยไม่ปฏิบัติตามาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนดการดำเนินงานโครงการฯ (TOR) การฟุ้งกระจายของตะกอนดังกล่าวเมื่อดูดตะกอนเสร็จสิ้นแล้ว ธรรมชาติอาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูน้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่วยาวนานกว่า 7 ปี และไม่บรรลุผลตามคำพิพากษา
การชี้แจงการดำเนินงานของกรมควบคุมมลพิษ กรณี ข้อร้องเรียนของชาวบ้านคลิตี้ต่อโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2563 (ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ)
ทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้หน่วยงานรัฐออกมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกหมู่บ้านคลิตี้ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนที่ปกติต้องอาศัยอาหารจากภายนอกมาบริโภคเพื่อลดความเสี่ยงการปนเปื้อนสารตะกั่ว ก็ไม่สามารถเดินทางออกไปได้ จึงทำให้ต้องจับสัตว์น้ำ เก็บผักตามลำห้วย และบางครัวเรือนที่ขาดแคลนน้ำ ก็ต้องสูบน้ำขึ้นมาจากลำห้วยมาอุปโภคบริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน นอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีค่าตะกั่วในเลือดพุ่งสูงขึ้นได้ ก็ยังทำให้เกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วย
เพื่อให้การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำพิพากษาเป็นไปอย่างรอบคอบและปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ชุมชนคลิตี้ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลในวันที่ 14 เมษายน 2563 มีความประสงค์ขอให้ศาล
1. นัดไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน เพื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำพิพากษาโดยวิธีดูดตะกอน ทั้งบริเวณชุมชนคลิตี้บน และบริเวณชุมชนคลิตี้ล่าง 10 จุดที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยให้กรมควบคุมมลพิษ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงข้อห่วงกังวลต่างๆ
2. ตรวจสอบแผนงานและข้อกำหนดโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ (TOR) ก่อนเริ่มดำเนินการดูดตะกอนบริเวณลำห้วย
3. มีคำสั่งแจ้งให้กรมควบคุมมลพิษหยุดการดำเนินการฟื้นฟูโดยการดูดตะกอนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัย ชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหามาตรการป้องกันผลกระทบและเยียวยาชุมชนที่เหมาะสมและเป็นธรรมตามหลักการป้องกันไว้ก่อน (Precautionary principle)
4. สั่งให้กรมควบคุมมลพิษออกหนังสือรับรองแก่ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในตรวจสอบและเก็บข้อมูลการตรวจวัดการฟุ้งกระจาย โดยเร่งด่วนในระหว่างสถานการณ์จำกัดการเข้าพื้นที่ป้องกันไวรัส COVID -19 ด้วย
หลังจากนี้สำนักบังคับคดีปกครองจะทำหนังสือสอบถามไปยังกรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้ชี้แจงประเด็นในคำร้อง และรอศาลมีคำสั่งว่าจะให้มีการนัดไต่สวนคำร้องต่อไปหรือไม่อย่างไร
อ่านสรุปประเด็นการยื่นคำร้องคดีคลิตี้ต่อศาลปกครองกลาง
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม :
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.743/2555
บทความเรื่อง “COVID-19 : บ้านคลิตี้ล่างและสายน้ำอาบยาพิษ ในสถานการณ์วิกฤติไวรัสระบาด” โดยสารคดี
ที่มา: มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม