การจัดการขยะมูลฝอยให้ได้ผลโดยเฉพาะขยะจากพลาสติกซึ่งใช้เวลาย่อยสลายนาน ต้องใช้หลายวิธีการไปพร้อม ๆ กัน โดยต้องเริ่มจากลดการใช้ลง รู้จักคัดแยกขยะ และนำขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยยึดหลัก 3Rs
R แรกคือ Reduce ใช้น้อยหรือลดการใช้ การลดปริมาณการใช้ลง ใช้เท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้อย่างฟุ่มเฟือยเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกและโฟมที่กำจัดยาก วิธีการลดง่าย ๆ ด้วยการสร้างนิสัยการใช้ตะกร้าหรือถุงผ้าในการซื้อของ ใช้แก้วส่วนตัวแทนการใช้แก้วครั้งเดียวทิ้ง ทานข้าวให้หมดจาน พกกล่องใส่อาหาร หรือเลือกซื้อบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
.
Reuse ใช้ซ้ำ การนำบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้อีกโดยไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น การใช้ถ่านไฟฉายแบบชาร์ตใหม่ได้ การนำเสื้อผ้าเก่าไปบริจาคหรือทำไม้ถูพื้น การซ่อมแซมอุปกรณ์และสิ่งของต่าง ๆ การใช้สินค้ามือสอง กระดาษสองหน้า
.
Recycle การคัดแยกขยะที่สามารถนำมารีไซเคิล เช่น กระดาษ แก้วพลาสติก โลหะ/อะลูมิเนียม เพื่อนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต หรือเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น การนำขวดพลาสติกใส (PET) มาแปรรูปเป็นเสื้อ นำกระป๋องอะลูมิเนียมมาหลอมเป็นขาเทียม นำกล่องนมยูเอสทีมาแปรรูปเป็นหลังคา (1)
.
กระบวนการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้ได้เสียก่อน เมื่อสามารถปรับพฤติกรรมให้รักษ์โลกได้ จะนำไปสู่การจัดการขยะเหลือให้ศูนย์ (Zero Waste) มากขึ้น นั่นหมายถึงการรีไซเคิลจะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน
.
อย่างไรก็ดี การตระหนักและความซื่อสัตย์ต่อตัวเองในการจับจ่ายซื้อสินค้าให้สามารถลดขยะหรือลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้จะต้องเข้มงวดในการปฏิบัติตนจนกลายเป็นนิสัย
.
นอกจากแนวทาง 3Rs ที่กล่าวมาแล้ว ยังมี R ตัวอื่น ๆ ที่หลายคนอาจจะพอคุ้นหูกันอยู่บ้าง ซึ่งเป็นการขยายความจาก 3Rs ข้างต้น นั่นคือ Refill การเติม, Repair การซ่อมแซมและ Replace การแทนที่ ซึ่งจะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเรามีความเข้มงวดในการรักษ์โลกมากยิ่งขึ้น
.
หากสามารถทำได้โดยไม่ฝืนตัวเองหรือสร้างภาระต่อการดำรงชีวิต ตัวเราก็จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยอัตโนมัติ จนแทบจะเรียกได้ว่าใช้ชีวิตโดยมีขยะเหลือไปยังหลุมฝังกลบน้อยที่สุด ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในการจัดการขยะให้เหลือศูนย์
.
ตัวอย่างการ Refill คือนำภาชนะไปเติม ทดแทนการซื้อใหม่ แค่นำภาชนะประเภทขวดไปเติมก็จะช่วยลดขยะภายในครัวเรือน อาทิ การเติมน้ำยาล้างจาน ยาสระผม สบู่เหลว รวมถึงข้าวสาร ธัญพืช เครื่องปรุงรส ฯลฯ
.
Repair การซ่อมแซม เพื่อลดการซื้อใหม่ แม้การซื้อสินค้าใหม่จะสะดวกกว่าการซ่อม ทว่าการซ่อมแซมของใช้เองอาจทำให้เรามีความสุขมากกว่าการออกไปซื้อของใหม่ เนื่องจากสามารถเข้าเว็บไซต์หาวิธีทำได้ง่าย ๆ
.
Replace การแทนที่ หมายถึง การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แทนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ใช้แปรงสีฟันด้ามไม้ไผ่แทนแปรงสีฟันด้ามพลาสติก ใช้ไหมขัดฟันจากไหมธรรมชาติ หรือแม้แต่การเลือกสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เช่น ใบบัว/ใบตองห่ออาหาร จานกาบหมาก เป็นต้น แม้จะยังก่อให้เกิดขยะอยู่บ้าง แต่ก็ดีกว่าการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งเพราะย่อยสลายได้ (2)
.
หากทุกคนปฏิบัติตัวเข้มงวดต่อหลัก 3Rs จะช่วยลดขยะพลาสติกบนโลกลงได้จำนวนมหาศาล และใครทำได้มากกว่านั้นก็จะยิ่งช่วยดูแลโลกมากยิ่งขึ้น
.
ท่านสามารถอ่านบทความนี้แบบเต็มอิ่มจุใจได้ทาง https://www.deqp.go.th/new/ยึดหลัก-3rs-ช่วยโลกลดขยะ-ใช/ นี้ได้เลยนะครับ
.
#คุณภาพสิ่งแวดล้อมคือคุณภาพชีวิต
ที่มา:
1)https://eservice.deqp.go.th/media/details?media_group_code=10&media_type_id=7&media_id=2448
2)https://www.greenpeace.org/thailand/story/16588/plastic-7r-to-manage-single-use-plastic-problem/