โควิด-19: ปัญหาขยะทางการแพทย์แก้ไขอย่างไรดี เพื่อรักษาทั้งชีวิตและสิ่งแวดล้อม
เมื่อ แคล เตเวซ (นามสมมติ) ศัลยแพทย์ชาวฟิลิปปินส์ไปร่วมโครงการฝึกงาน 6 เดือนที่โรงพยาบาลในสิงคโปร์ เธอต้องปรับตัวหลายอย่าง
จากที่ทำงานในโรงพยาบาลที่ดูแลคนยากจนในประเทศที่กำลังพัฒนา เธอได้มาอยู่ในโรงพยาบาลที่มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยในประเทศที่ร่ำรวยกว่ามาก
แต่สิ่งที่เธอต้องแปลกใจอีกประการหนึ่งคือ โรงพยาบาลแห่งนี้ใช้พลาสติกเป็นจำนวนมหาศาลแค่ไหน
ในห้องผ่าตัด เครื่องมืออย่างเครื่องถ่างแผลพลาสติกต้องกลายเป็นขยะทางการแพทย์เมื่อการผ่าตัดแต่ละครั้งเสร็จสิ้นลง ขณะที่ในฟิลิปปินส์ เธอและเพื่อนแพทย์ต้องนำเครื่องมือเหล่านี้ไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อเอากลับมาใช้ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า
นี่ทำให้เธอตัดสินใจแอบเก็บเครื่องมือที่ทำจากพลาสติกสำหรับใช้ครั้งเดียวเหล่านี้ไว้โดยได้ความช่วยเหลือจากเพื่อนแพทย์ที่สนับสนุนเธอ ในที่สุด เธอก็เก็บสะสมเครื่องมือเหล่านี้จนใส่เต็มกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ได้
แต่การพูดคุยเรื่องผลกระทบของวงการแพทย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมักทำให้เกิดประเด็นถกเถียง เพราะถึงที่สุดแล้ว การช่วยชีวิตคนไข้ตรงหน้าก็สำคัญกว่าข้อกังวลอื่นใด
เตเวซก็เห็นด้วยในเรื่องนี้ ที่เธอเก็บสะสมเครื่องมือจากที่โรงพยาบาลนี้ก็เพื่อไปช่วยเหลือคนไข้ของเธอที่ฟิลิปปินส์เหมือนกัน และหากมองในมุมนี้ การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนก็เป็นการช่วยเหลือคนไข้เช่นกัน
ที่มาของภาพ,REUTERS
องค์กรการดูแลสุขภาพที่ปราศจากผลอันตราย(Health Care Without Harm) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ระบุว่า หากนับระบบสาธารณสุขในประเทศต่าง ๆ เป็นประเทศหนึ่ง ประเทศดังกล่าวจะเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก เทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของโรงงานผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 514 แห่ง หรือร้อยละ 4.4 ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดทั่วโลก
ทีมา: https://www.bbc.com