เปลี่ยนขยะเศษอาหารที่ไร้ค่า ให้กลับมามีประโยชน์ ด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์
รู้หรือไม่ว่า??? ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติปัญหาขยะจำนวนมหาศาลประมาณ ๒๘ ล้านตันต่อปี
ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นขยะตกค้างที่ไม่สามารถกำจัดได้ ๕.๘ ล้านตัน และที่สำคัญมีขยะเศษอาหารสูงถึง ๔ ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ ๖๐ ของปริมาณขยะที่ไม่สามารถกำจัดได้ลองนึกภาพดูว่า มันจะน่ากังวลขนาดไหน กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากขยะเหล่านี้ที่กำจัดไม่ได้ ทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขอนามัยของคนในชุมชน อย่างไรก็ตาม นับเป็นข่าวดีอย่างยิ่งที่ในวันนี้มีนวัตกรรมที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยอุปกรณ์ที่ชื่อว่า เครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติซึ่งได้รับการพัฒนาจนสำเร็จเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยทีมวิจัยจากฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม สถาบันนวัตกรรม ปตท.ขั้นตอนในการสร้างสรรค์ ทีมวิจัยคัดเลือกและพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งมีประสิทธิภาพในการผลิตเอนไซม์เพื่อช่วยในการย่อยสลายขยะเศษอาหาร โดยเชื้อจุลินทรีย์จะทำงานร่วมกับเครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติที่มีความสามารถในการควบคุมสภาวะของเชื้อจุลินทรีย์ให้ทำงานย่อยสลายขยะเศษอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ไร้กลิ่นเหม็นรบกวนและเชื้อรา สำหรับตัวเครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติที่ว่านี้ จะมีส่วนประกอบการทำงานอยู่ ๒ ส่วนหลักๆ คือ ส่วนย่อยสลายเศษขยะอาหาร และส่วนดูดซับกลิ่น มีศักยภาพในการรองรับปริมาณเศษขยะได้สูงสุดถึง ๕ กก. ต่อวัน แถมตัวเครื่องยังมีขนาดที่กล่าวได้ว่าประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง เพราะทั้งด้านกว้าง ยาว และสูงไม่เกิน ๑ ม. นอกจากนี้ ยังมีระบบการทำงานที่ง่าย ไม่ซับซ้อน เพราะระบบควบคุมสภาวะต่างๆ ได้รับการติดตั้งไว้อย่างอัตโนมัติแล้ว ผู้ใช้งานเพียงแค่เปิดเครื่อง และใส่ขยะเศษอาหารพร้อมเชื้อจุลินทรีย์ของ ปตท. ได้ทันที และที่สำคัญเหนือสิ่งใด คือ นอกจากจะช่วยย่อยสลายขยะเศษอาหารแล้ว นวัตกรรมชิ้นนี้ยังทำให้ขยะเศษอาหารซึ่งเป็นของเหลือทิ้ง เกิดประโยชน์ขึ้นมาอีกด้วย เพราะหลังจากย่อยสลายขยะเศษอาหารด้วยเชื้อจุลินทรีย์ตามกระบวนการขั้นตอนดังกล่าวแล้ว ผ่านไป ๑๒ ชม. เราจะได้วัสดุปรับปรุงดิน (Bio-Soil) ที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์แล้วว่า มีธาตุอาหาร NPK และองค์ประกอบอื่นๆ ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ รวมทั้งบำรุงฟื้นฟูดินที่เสื่อมสภาพให้กลับมามีคุณภาพอีกครั้งทั้งนี้ นวัตกรรมเครื่องต้นแบบย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติติดตั้งทดสอบการใช้งานจริงแล้วที่อาคารบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด ได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่ง เพราะในช่วงเวลาเพียง ๒ เดือนสามารถลดขยะเศษอาหารได้มากถึง ๑๓๙.๖ กก. และสามารถเปลี่ยนขยะเศษอาหารให้เป็นวัสดุปรับปรุงดินได้ทั้งหมด ๒๙.๐๖ กก. ก่อนจะนำไปใช้ในการบำรุงต้นไม้ที่บริเวณอาคารจอดรถ ๒ จากความสำเร็จดังกล่าวนี้ สถาบันนวัตกรรม ปตท. จึงได้ร่วมมือกับบริษัท อินทรีย์ อีโคไซเคิล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านการจัดการของเสียอย่างครบวงจร ร่วมกันผลักดันนวัตกรรมเครื่องต้นแบบย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัตินี้ในการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ในการใช้งานในวงกว้างต่อไป จากขยะเศษอาหารที่ไร้ค่า แถมเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคน กลับกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วย Social Innovation ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ และมุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมโดยแท้จริง