ระบบนิเวศและสายพันธุ์ปลาที่หลากหลายในลุ่มแม่น้ำโขงถือเป็นแหล่งอาหารสำคัญของประชากรกว่า 60 ล้านคน ใน 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง
จากผลการศึกษา ทีมนักวิจัยโครงการ CounterMEASURE พบว่า พื้นที่ท้ายน้ำมีปริมาณค่าเฉลี่ยไมโครพลาสติกสูงกว่าจุดอื่นของลุ่มน้ำอย่างเห็นได้ชัด เช่นที่ บริเวณกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา มีค่าเฉลี่ยไมโครพลาสติกสูงถึง 2.13 ชิ้น/ลูกบาศก์เมตร โดยพื้นที่ที่พบไมโครพลาสติกปนเปื้อนสูงสุดอยู่ที่เมืองเกิ่นเทอ ประเทศเวียดนาม ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
สำหรับแม่น้ำโขงในเขตประเทศไทยก็ตรวจพบการปนเปื้อนไมโครพลาสติกเช่นกัน โดยพบว่า แม่น้ำโขงบริเวณ จ.อุบลราชธานี มีปริมาณไมโครพลาสติกปนเปื้อนราว 0.38 ชิ้น/ลูกบาศก์เมตร และที่ จ.เชียงราย 0.23 ชิ้น/ลูกบาศก์เมตร โดยไมโครพลาสติกที่พบนั้นเป็นพลาสติกประเภท PP (Polypropylene) มากที่สุด ซึ่งเป็นพลาสติกประเภทที่ใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร แตกต่างกับการสำรวจไมโครพลาสติกในแม่น้ำประเทศญี่ปุ่นซึ่งพบเป็นพลาสติกประเภท PE (Polyethylene) ซึ่งใช้ผลิตขวดน้ำ
อย่างไรก็ดี Kakuko กล่าวว่า เนื่องจากไมโครพลาสติกเป็นมลพิษใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบไม่นาน การศึกษาวิจัยจึงยังจำกัด ทำให้ปัจจุบันยังไม่มีค่ามาตรฐานปัจจุบันว่าค่ามาตรฐานที่เหมาะสมในสภาพแวดล้อมควรมีค่าเท่าใด
“สาเหตุที่ขยะพลาสติกปนเปื้อนลงแหล่งน้ำเป็นเพราะมาตรการจัดการขยะที่ขาดประสิทธิภาพและไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดการทิ้งขยะในที่โล่ง ซึ่งเมื่อมีฝนหรือน้ำท่วม จะเสี่ยงรั่วไหลลงแม่น้ำมูล นอกจากนี้ยังพบแหล่งทิ้งขยะผิดกฎหมายหลายจุด เพราะส่วนปกครองท้องถิ่นจัดหาระบบทิ้งขยะให้ไม่ทั่วถึง เช่น อุบลราชธานีมี 238 ส่วนปกครอง มีเพียง 95 แห่งที่เท่านั้น” เธอกล่าว
“ผลสำรวจพิสูจน์ให้เห็นว่าปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงแต่ละพื้นที่ เพราะฉะนั้นเราจะต้องหามาตรการรับมือต่างกัน เราแนะนำให้ใช้มาตรการแบนการใช้พลาสติกที่ครอบคลุมทั้งประเทศ และส่งเสริมวิธีแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดเสี่ยงขยะรั่วไหลลงแหล่งน้ำ”
รายงานการศึกษาโดยทีมนักวิจัยจาก Helmholtz Center for Environmental Research ประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ.2561 เผยว่า แม่น้ำโขงเป็น 1 ในแม่น้ำ 10 สายที่ปล่อยขยะพลาสติก และไมโครพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก โดยประมาณการณ์ว่าในแต่ละปีจะมีขยะพลาสติกที่ไม่ได้ถูกจัดการอย่างเหมาะสมไหลลงแม่น้ำโขงสู่ทะเลกว่า 33,431 ตัน
ในขณะที่ รายงานการศึกษาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในปลาน้ำจืดในแม่น้ำชี โดย ภัททิรา เกษมศิริ และ วิภาวี ไทเมืองพล ซึ่งเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of GEOMATE เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เผยว่า มลพิษไมโครพลาสติกในลุ่มแม่น้ำโขงได้แทรกซึมปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหาร เรียบร้อยแล้ว
ผศ.ดร.ภัททิรา เกษมศิริ นักวิจัยจาก คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในนักวิจัยเจ้าของงานศึกษาดังกล่าว กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างปลาน้ำจืดที่จับจากแม่น้ำชี ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง และถูกนำมาขายในตลาดท้องถิ่น 6 แห่งใน จ.มหาสารคาม จำนวนทั้งหมด 107 ตัวอย่าง พบว่า มีปลาทั้งหมด 78 ตัวอย่าง หรือ 72.9% ของตัวอย่างทั้งหมดที่สุ่มตรวจ มีเศษไมโครพลาสติกในกะเพาะอาหารราว 1 – 2 ชิ้น / ตัว
จากการตรวจสอบเศษไมโครพลาสติกที่พบในปลา ผศ.ดร.ภัททิรา เผยว่า กว่า 87% ของชิ้นส่วนไมโครพลาสติกเหล่านี้ เป็นพลาสติกจำพวกเยื่อไฟเบอร์ และ 57% มีลักษณะเป็นสีฟ้า ซึ่งชี้ว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้มาจากเศษซากอวนแห เครื่องมือประมงสมัยใหม่ที่ทำมาจากพลาสติกไฟเบอร์สีฟ้า จากการประมงและเพาะเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำ
ในขณะที่การวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่างปลาที่ตรวจพบไมโครพลาสติก ไม่พบแนวโน้มในระหว่างสายพันธุ์ว่าจะมีการที่สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งบริโภคพลาสติกมากกว่าสายพันธุ์อื่น ซึ่งตีความได้ว่าปลาในแม่น้ำโขงอาจล้วนเสี่ยงต่อการคุกคามจากพลาสติก และเป็นที่ชัดเจนว่าสุดท้ายไมโครพลาสติกเหล่านี้ก็จะถ่ายทอดตามห่วงโซ๋อาหารมาถึงมนุษย์ในที่สุด
ระบบนิเวศและสายพันธุ์ปลาที่หลากหลายในลุ่มแม่น้ำโขงถือเป็นแหล่งอาหารสำคัญของประชากรกว่า 60 ล้านคน ใน 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง //ขอบคุณภาพจาก: International Rivers
“เมื่อเปรียบเทียบกับรายงานการศึกษาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในปลาทะเลจากอ่าวไทย และอ่างเก็บน้ำในประเทศจีน ปริมาณการปนเปื้อนไมโครพลาสติกที่พบในปลาจากแม่น้ำชีถือได้ว่ามีปริมาณค่อนข้างน้อยกว่า อีกทั้งขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบของการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารต่อมนุษย์อย่างชัดเจน แต่การค้นพบครั้งนี้ก็ชี้ชัดว่าระบบนิเวศแม่น้ำชีมีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในระดับปานกลาง” เธอกล่าว
“ยิ่งไปกว่านั้น เศษไมโครพลาสติกเหล่านี้ประกอบไปด้วยองค์ประกอบทางเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมหลายชนิดเช่น สไตรีน, สารโลหะหนัก, Polychlorinated Biphenyls (PCBs), รวมไปถึง polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อปลาและระบบนิเวศแม่น้ำได้”
ผศ.ดร.ภัททิรา กล่าวสรุปว่า ผลการศึกษาชิ้นนี้ย้ำถึงความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ทุกๆ ภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ โดยการลดใช้พลาสติก หันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้น และปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการขยะ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกปล่อยทิ้งลงสู่แม่น้ำโขง
Cr: Green News