news

อนาคต“คลิตี้”ยังคลุมเครือ ผลเจรจาไร้ข้อสรุป จะเดินหน้าเฟส 2 หรือตั้งต้นใหม่เฟส 0

17-05-2021

คลิตี้ยังปนเปื้อนตะกั่วเกินมาตรฐาน 

กรมควบคุมมลพิษเผยว่า ก่อนหน้าการฟื้นฟูพื้นที่หมู่บ้านคลิตี้ปนเปื้อนตะกั่วสูงหลักแสนมิลลิกรัม/กิโลกรัม หลังจากกำจัดตะกอนปนเปื้อน 90,000 ตันแล้ว ปัจจุบัน ค่าตะกั่วแต่ละจุดฟื้นฟูลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เหลือเพียง 2,000 – 3,000 มก./กก.

ทว่านักวิชาการซึ่งช่วยชุมชนติดตามความคืบหน้าโครงการ ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แย้งว่า คำกล่าวอ้างว่าได้ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจนเหลือค่าตะกั่วเพียงหลักพันนั้นไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าพื้นที่คลิตี้จะเป็นพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่วตามธรรมชาติ แต่ชุดข้อมูลและกระบวนการแปลผลของผู้ดำเนินการฟื้นฟูไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ปัจจุบัน คลิตี้ยังปนเปื้อนตะกั่วสูงราว 14,000 – 20,000 มก./กก. สูงกว่าค่าที่กรมควบคุมกำหนดไว้ว่า 1,800 มก./กก.อย่างต่ำ 8 เท่า

เขาเผยว่าสาเหตุที่ภารกิจฟื้นฟูทำไม่สำเร็จ เป็นเพราะการฟื้นฟูนั้นไม่มีประสิทธิภาพและยังไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง (TOR) เช่น บ่อกักเก็บหางแร่เก่าของโรงแต่งแร่ขนาด 22 ไร่ ซึ่งเป็นต้นเหตุรั่วไหลทำให้ลำห้วยปนเปื้อนมาหลายปี ทุกวันนี้ยังคงรั่วแม้โครงการจำฟื้นฟูบริเวณดังกล่าว , ฝายดักตะกอนปนเปื้อนไม่สามารถดักตะกอนได้จริง , ไม่ได้ดูดตะกอนจากท้องน้ำทุกช่วงของลำห้วย และแม้จะดูดขึ้นมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัด ทว่ากลับไม่มีบ่อดักตะกอนอีกขั้นหนึ่ง เป็นการปล่อยน้ำที่ยังปนเปื้อนตะกั่วกลับสู่แหล่งน้ำ 

ชลาลัย นาสวนสุวรรรณ เยาวชนคลิตี้ล่างแสดงเผยว่าที่ผ่านมา โครงการฟื้นฟูลำห้วยเฟส 1 ซึ่งดูดตะกอนปนเปื้อนตะกั่วจากลำห้วยและบริเวณตลิ่งนั้นสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ สังเกตได้ว่าน้ำตื้นขึ้นและมีขี้เลนมากใต้ท้องน้ำอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน พืชผักริมตลิ่งหาย อีกทั้งโครงการระยะแรกที่ปิดฉากไปเมื่อ 11 มกราคมที่ผ่านมาหลังจากทำงานมาร่วม 3  ปีไม่ได้สื่อสารกับชุมชนชัดเจนว่าผลการฟื้นฟูเป็นอย่างไร ทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่แน่ใจว่าสามารถใช้น้ำและหาอาหารจากลำห้วยได้ปกติแล้วหรือไม่

ห้วยคลิตี้บริเวณคลิตี้บน หลังการฟื้นฟู (มกราคม 2564)

หรือปัญหาอยู่ที่ (ไร้) เป้าหมาย 

ประเด็นหนึ่งที่คณะติดตามการฟื้นฟูลำห้วยภาคประชาชนและกรมควบคุมมลพิษซึ่งดำเนินการฟื้นฟูหารือร่วมกัน คือ ค่าเป้าหมายของงานฟื้นฟู ปี 2556 ศาลปกครองได้ตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินงานฟื้นฟูให้ลำห้วยให้น้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยมีค่าตะกั่วไม่เกินมาตรฐานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี จึงนำมาสู่การถกเถียงว่าควรฟื้นฟูลำห้วยให้ตะกั่วที่ปนเปื้อนลดลงถึงจุดใดถึงจะปลอดภัยต่อผู้คน

คพ.ตั้งเป้าการฟื้นฟูไว้ให้ค่าความเข้มข้นตะกั่วลดลงเหลือ 1,800 มก./กก. ทว่าค่าดังกล่าวยังสูงกว่าเกณฑ์สากล 421 มก./กก. ขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA: Environmental Protection Agency) ซึ่งคำนวณว่าเป็นปริมาณตะกั่วในเลือดของเด็กที่ยอมรับได้ว่าปลอดภัย คือ 10 ไมโครกรัม/เดซิลิตร

ผศ.ดร.ธนพล แย้งว่า ค่าเป้าหมายของคพ.จะทำให้มีจำนวนเด็กที่สุขภาพไม่ปลอดภัยสูงถึง 19.50% จึงเสนอให้ตั้งค่าเป้าหมายการฟื้นฟูลำห้วยเป็น 563 มก./กก. เพื่อให้เหลือเด็กที่มีตะกั่วในเลือดเกินเกณฑ์เพียง 9.95%

ปัจจุบัน ค่าเป้าหมายการฟื้นฟูทั้งสองตัวเลขยังไม่เป็นที่ยอมรับของศาลปกครอง  ศาลจึงกำหนดให้กรมควบคุมมลพิษตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสถาบันเพื่อศึกษาหาค่าเป้าหมายและนัดหารือเพื่อหาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยในเดือนมีนาคมนี้

ผลการฟื้นฟูลำห้วยเฟส 1 บริเวณคลิตี้ล่าง โดยคพ.

นิวนอร์มอล “คลิตี้” ยังน่ากังวล

กระทรวงสาธารณสุข เผยผลตรวจเลือดชาวคลิตี้ปี 2544 – 2563 ว่ามีปริมาณตะกั่วในเลือดลดลง ทั้งผู้ใหญ่และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ที่ผ่านมา พบว่าชาวคลิตี้ป่วยด้วยพิษตะกั่วหลายอย่าง เช่น ตัวบวม ไร้เรี่ยวแรง ตาบอด ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการเด็กและบางรายถึงขั้นเสียชีวิต

สุขภาพที่ดีขึ้นนั้นสะท้อนว่ากระบวนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงหรือว่าชุมชนคลิตี้ได้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ไม่พึ่งพิงลำห้วยเหมือนอดีตกันแน่ สมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถาม

“การที่ค่าตะกั่วในเลือดลดลงไม่ได้ความหมายว่าสิ่งแวดล้อมมันดีขึ้น แต่แปลว่าเขาปรับพฤติกรรมไม่ใช้น้ำหรือหาอาหารจากลำห้วยเหมือนเมื่อก่อน เปลี่ยนไปกินอาหารภายนอก นั้นเท่ากับผลักภาระให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างกลุ่มคนที่จนที่สุด ไม่มีเงินไปซื้ออาหาร กลุ่มเสี่ยงนี้เขามีกี่คนกันและเราต้องปกป้องเขา”

สอดคล้องกับทัศนะของวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.ธนพล เชื่อว่าตามหลักการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูควรจะทำให้สิ่งแวดล้อมกลับมาเป็นดังเดิมให้ชุมชนสามารถมีวิถีชีวิตปกติ ไม่ใช่ปรับรูปแบบการใช้ชีวิตให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนซึ่งนับเป็นการครอบงำจากสถาบัน (Institutional Control)

ปี 2545 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอนามัยได้ติดป้าย “งดบริโภคน้ำและปลาในลำห้วยชั่วคราว” และมีโครงการรณรงค์ให้ชาวคลิตี้ปรับพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการใช้น้ำ

ด้านกรมควบคุมมลพิษ ยอมรับว่าปัจจุบันยังมีชาวบ้าน 10-20% ที่อาจจำเป็นต้องใช้น้ำจากลำห้วยโดยตรงอยู่ พันธุ์ศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำ

ยืนยันว่า การปฏิบัติตัวของคนที่อยู่ในพื้นที่ศักยภาพแร่สูงจะต้องไม่ปฏิบัติตัวเหมือนคนปกติ เหมือนคนที่บ้านอยู่ริมถนนใหญ่จะปฏิบัติตัวเหมือนคนไกลถนนไม่ได้ ดังนั้นการป้องกันตะกั่วไม่ให้เข้าร่างกายจึงเป็นเรื่องสำคัญและที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐได้ออกข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวให้ชาวคลิตี้ตลอดมา

ป้ายให้ความรู้เรื่องตะกั่วในหมู่บ้านคลิตี้

บทสรุป .. ยังไร้ข้อสรุป

ด้วยข้อติดขัดต่างๆ ที่พบระหว่างเส้นทางการฟื้นฟู คณะทำงานศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาจึงยื่นหนังสือกับอธิบดีกรมควบคุมมลพิษพร้อมข้อเสนอหลัก 2 ประการ

1.เดินหน้าสู่โครงการฟื้นฟูเฟส 2 ต่อ โดยคพ.ต้องดำเนินโครงการฟื้นฟูเฟส 1 ตามค่าเป้าหมายให้สำเร็จก่อนเริ่ม และไม่ควรมีเฟส 3 เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่องบประมาณแผ่นดินที่ใช้ไป

2.ตั้งต้นใหม่เฟส 0 โดยตั้งกรรมการที่ภาคประชาชนและวิชาการมีส่วนร่วมเพื่อถอดบทเรียนความผิดพลาดของการออกแบบ การดำเนินการฟื้นฟูต่างๆ และหาทางที่เหมาะสม อิงหลักวิชาการ โปร่งใสและชุมชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ โดยอาจทำเป็นโครงการสาธิตก่อน

โครงการเฟส 2 มีแผนดำเนินงานช่วงเมษายน – ธันวาคม 2564  โดยจะนำหางแร่ตะกั่วบนบกใกล้โรงแต่งแร่เก่าไปฝังกลบเพื่อป้องกันไม่ให้รั่วไหลลงลำห้วย ด้วยงบประมาณ 180 ล้านบาท

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เผยว่าโครงการฟื้นฟูเฟส 2 เป็นความต้องการของประชาชนชาวคลิตี้บนที่ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาตะกั่วปนเปื้อน ซึ่งมีทั้งบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตร เฟส 2 มีเนื้องานแตกต่างกับการทำงานขุดลอกตะกอนในลำห้วยที่ผ่านมาซึ่งก่อให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ

ต่อคำถามที่ว่า จากการพูดคุยวันนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะดำเนินการเฟส 2 ตามกำหนดเดิมและหากดำเนินการเฟส 2 แล้วคลิตี้ยังปนเปื้อนตะกั่วจะต้องมีการดำเนินการเฟสถัดๆ ไปหรือไม่ 

“จะต้องดำเนินการหารือกับนักวิชาการก่อนเพื่อประเมินความเหมาะสมและคุ้มค่า” อธิบดี คพ. กล่าว

ข้อความในงานประชุมหารือเรื่องปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการฟื้นฟู (พฤศจิกายน 2563)

ยันไม่ได้เร่งเดินหน้าเฟส 2 เพื่อใช้งบ

อธิบดีคพ.ยืนยันว่า ไม่ได้มีการเร่งดำเนินการโครงการระยะ 2 เพื่อใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรมาภายในปีนี้ตามข่าวลือ 

“เราคงไม่อยากดำเนินหน้าโครงการที่สองทั้งที่โครงการที่หนึ่งยังไม่สมบูรณ์ สิ่งสำคัญที่สุดคือทำต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้ได้ ถ้าจะยุติเฟส 1 ก็คงต้องยุติในลักษณะที่คุ้มค่าต่องบประมาณที่ได้ทำไป ได้ผลที่น่าพอใจ ได้พร้อมๆ กับชี้แจงให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่าเฟสหนึ่งเราทำอะไรบ้าง จะได้ประโยชน์อะไร ต้องเปิดให้พี่น้องประชาชนรับทราบถึงแผนการต่อไป ถ้าเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย เราก็จะดำเนินการต่อเฟส 2”

“ในอนาคตชาวบ้านจะอยู่ได้ภายใต้วิถีชีวิตที่ปลอดภัย มีการดำรงชีพที่สามารถใช้น้ำอุปโภคบริโภค ตามหลักสุขอนามัย ใช้อาหารสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในลำห้วยที่สามารถเอามาบริโภคได้ อันนี้คือเป้าหมายของเรา”

ปัญหา “สายน้ำติดเชื้อ” ชุมชนคลิตี้ปนเปื้อนสารตะกั่วเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 40 ปี ตั้งแต่ปี 2518 เมื่อชาวบ้านในพื้นที่สังเกตพบว่า โรงแต่งแร่ บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) ได้มีการปล่อยน้ำเสียและทิ้งหางแร่ที่มีสารตะกั่วในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและการใช้ชีวิตปกติ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันยื่นฟ้องศาลศาลปกครอง 

หลังการต่อสู้ในชั้นศาลหลายสิบปี ในที่สุด คำพิพากษาศาลปกครอง สั่งให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูแทนบริษัทตะกั่วฯ ที่เพิกเฉย หน่วยงานรัฐโดยการนำของ คพ. จึงได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ดำเนินการฟื้นฟูตั้งแต่ปลายปี 2560 จนถึง ก.พ. 2564 ด้วยงบประมาณร่วมสี่ร้อยล้าน 

 

ข้อมูลจาก : Greenery News

logoTEST TECH

บริษัท เทสท์ เทค จำกัด (สำนักงานใหญ่)
30, 32 ซอยพระรามที่ 2 ซอย 63 ถนนพระรามที่ 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
โทร: 02-893-4211-17, 087-928-5554
แฟกซ์: 02-893-4218
อีเมล: info@testtech.co.th, wanwalee.d@testtech.co.th
เราใช้คุกกี้ในเว็บไซต์ของเราเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเว็บไซต์ และเพื่อการให้บริการที่ดีที่สุดสําหรับคุณ โปรดอ่านนโยบายการใช้คุกกี้ เมื่อคุณเข้าใช้เว็บไซต์นี้เราถือว่าคุณยินยอมให้จัดเก็บและเข้าถึงคุกกี้บนอุปกรณ์ของคุณ
3000
4900
th