สหประชาชาติเผยรายงานภูมิอากาศโลก ชี้เป็น “สัญญาณเตือนสีแดง” สำหรับมนุษยชาติ
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ เผยแพร่รายงานฉบับประวัติศาสตร์ ซึ่งเผยผลสรุปในการศึกษาเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมและภูมิอากาศโลกที่ผ่านมาทั้งหมด รวมทั้งคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต โดยพบว่ามนุษย์แทบจะไม่มีหวังในการแก้ปัญหาโลกร้อนได้เสียแล้ว
รายงานดังกล่าวชี้ว่า กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ได้ทำให้โลกเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายพันปีที่ผ่านมา ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นหลายประการนั้น ไม่อาจจะแก้ไขให้หวนคืนสู่สภาพเดิมได้อีก
รายงานความยาว 42 หน้ากระดาษนี้ใช้เวลาจัดทำถึง 8 ปี เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและครอบคลุมจากการประเมินงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กว่า 14,000 ชิ้น โดยชี้ให้เห็นสภาพการณ์ที่เลวร้ายลงในหลายด้าน ซึ่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากชี้ว่าเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ "อย่างไม่ต้องสงสัย"
ที่มาของภาพ,JUSTIN SULLIVAN
คำบรรยายภาพ,
ความแห้งแล้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ทำให้น้ำในทะเลสาบ Oroville ลดระดับลงต่ำสุด
รายงานกล่าวถึงอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลกตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปรากฎว่าสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมหรือระหว่างปี 1850 - 1900 อยู่ราว 1.09 องศาเซลเซียส โดยนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 มาจนถึงปัจจุบัน อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นรวดเร็วยิ่งกว่าช่วงกึ่งศตวรรษใด ๆ ในรอบ 2,000 ปีก่อนหน้านี้
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โลกมีสภาพอากาศร้อนทำลายสถิติสูงสุดที่เคยบันทึกไว้นับตั้งแต่ 170 ปีก่อน รวมทั้งคลื่นความร้อนและสภาพอากาศร้อนจัดสุดขั้วก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา ในขณะที่สภาพอากาศหนาวเย็นเริ่มจางหายไป
ระดับน้ำทะเลในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 3 เท่า เมื่อเทียบกับสถิติของช่วงปี 1901-1971 ส่วนการลดลงของปริมาณน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติก และการหดหายละลายตัวของธารน้ำแข็งทั่วโลกตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ล้วนปรากฏชัดว่าเป็นผลมาจากฝีมือมนุษย์ถึง 90% เลยทีเดียว
สภาพการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบที่เลวร้ายเกินกว่าที่เคยคาดกันไว้หลายประการ โดยภายในเวลาไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้นเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.5 องศาเซลเซียสอย่างแน่นอน ซึ่งเท่ากับว่าเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวตามความตกลงปารีส มีแนวโน้มอย่างมากที่จะไม่เป็นผลสำเร็จ เว้นแต่ทุกชาติจะร่วมกันทุ่มเททรัพยากรทุกด้านอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อแก้ปัญหาในทันทีเท่านั้น
คำบรรยายภาพ: ผู้ประท้วงในสหราชอาณาจักรเรียกร้องให้บรรดานักการเมืองลงมือแก้ปัญหาโลกร้อน ก่อนถึงการประชุม COP26
สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอีกประการหนึ่ง ก็คือเขตอาร์กติกจะไม่มีน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อนหรือเดือนกันยายน ซึ่งเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นอย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อนถึงปี 2050 สภาพอากาศแบบสุดขั้วเช่นฝนตกหนักจนน้ำท่วมและความแห้งแล้งรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ จะปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งขึ้นเรื่อย ๆ แม้อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสไปแล้วก็ตาม
สภาพอากาศผิดปกติที่เกิดจากไฟป่าครั้งใหญ่จะพบได้มากขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก ส่วนการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของระดับน้ำทะเลอย่างรุนแรง ชนิดที่ในอดีตจะพบได้เพียงครั้งเดียวในรอบศตวรรษนั้น ภายในปี 2100 จะพบเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทุกปี ที่จุดตรวจวัดกระแสน้ำกว่าครึ่งของที่นักวิทยาศาสตร์ได้วางเอาไว้ทั่วโลก โดยมีความเป็นไปได้อย่างสูงว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เมตรก่อนสิ้นศตวรรษนี้ และเพิ่มขึ้น 5 เมตร ภายในปี 2150 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่จะมีประชาชนผู้อยู่อาศัยตามแนวชายฝั่งได้รับความเดือดร้อนหลายล้านคน
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติแถลงว่า รายงานของ IPCC ที่เผยแพร่ออกมาล่าสุดนี้ เปรียบเสมือน "สัญญาณเตือนสีแดง" สำหรับมนุษยชาติ
นายกูเตอร์เรสเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมมือกันเสียแต่บัดนี้ เพื่อขจัดปัดเป่าหายนะภัยจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งผู้นำของชาติต่าง ๆ ควรจะนำข้อมูลจากรายงานข้างต้นไปวางแนวทางแก้ปัญหาเสียใหม่ เพื่อผลักดันให้การประชุมสุดยอดด้านภูมิอากาศ COP26 ที่มุ่งแก้ไขภาวะโลกร้อน ซึ่งจะมีขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ของสหราชอาณาจักรในเดือนพฤศจิกายนนี้ ประสบความสำเร็จ
ทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้จัดทำรายงานของ IPCC แสดงความเห็นว่า แม้สภาพการณ์โดยทั่วไปจะเลวร้าย แต่ก็ยังคงมีความหวังว่าชาติต่าง ๆ จะตัดลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากระดับปัจจุบันลงได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และหยุดปล่อยคาร์บอนได้อย่างสมบูรณ์ (net zero) ภายในช่วงกลางศตวรรษนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อถึงจุดดังกล่าว อุณหภูมิโลกจะไม่เพิ่มสูงขึ้นอีกต่อไป และมีโอกาสจะทำให้กลับคืนสู่ระดับที่เย็นลงได้
Cr: BBC NEWS Thai | https://www.bbc.com/thai/international-58147469