ส่องนโยบายโบกมือลา 'ถ่านหิน' สู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน

เทรนด์โลกตอนนี้กำลังโบกมือลาเชื้อเพลิงถ่านหิน ผ่านการกำหนดนโยบายหลากหลายทั้งการออกมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ และบางประเทศถึงขนาดตั้งเป้ามุ่งสู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน ขณะที่จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้พลังงานถ่านหินกว่าครึ่งของโลก ยังตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2060   หากจะพูดถึงแหล่งกำเนิดภาวะโลกร้อน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก แหล่งที่มาที่เป็นตัวการที่สุด คือ 'ถ่านหิน' ซึ่งทั่วโลกมีความพยายามในการลดการใช้ ก่อนหน้านี้ถอยไปประมาณ 10 -15 ปี อาจจะเห็นความพยายามในแง่ของเชิงสมัครใจ ในการรณรงค์ให้บริษัทต่างๆ เลิกใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ในบริษัทพลังงานที่เปลี่ยนไปลงทุนในพลังงานชนิดอื่นแทน กระทั่งปัจจุบัน มีความเข้มข้นที่มากขึ้นในนโยบายแต่ละประเทศ ขณะที่ไทย เริ่มเห็นเป้าหมายในการปลดระวางโรงถ่านหินเช่นกัน โดย กรีนพีซ ได้เสนอให้ประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” เพื่อให้การเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น   รายงาน Net Zero by 2050 โดย International Energy Agency หรือ IEA ซึ่งเป็นองค์การพลังงานระหว่างประเทศ ล่อไปกับแนวโน้มหลายประเทศ ก่อนหน้านี้ประเทศต่างๆ บอกว่ามีแผนรับมือภาวะโลกร้อน หรือรับผิดชอบเรื่องก๊าซเรือนกระจกอย่างไร หลายประเทศประกาศว่าภายในปี 2050 จะปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงประเทศจีนก็ประกาศเช่นกันแต่ขอทำให้ได้ภายในปี 2060   ข้อมูลจาก: กรุงเทพธุรกิจ (https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/940528)

พบแหล่งน้ำบาดาลใหม่ที่สัตหีบ ชลบุรี

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดทำโครงการศึกษา สำรวจ และประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วย 1.โรงสูบน้ำที่ 1 ฐานทัพเรือสัตหีบ ความลึก 150 เมตร ปริมาณน้ำสูงสุดที่สูบได้จากการคำนวณ 169.1 ลบ.ม./ชม. 2.แฟลตทหารเรือสัตหีบ ความลึก 150 เมตร ปริมาณน้ำสูงสุดที่สูบได้จากการคำนวณ 128.15 ลบ.ม./ชม. และ 3.หน่วยบัญชาการพิเศษทางเรือ ความลึก 150 เมตร ปริมาณน้ำสูงสุดที่สูบได้จากการคำนวณ 188.76 ลบ.ม./ชม. ผลการดำเนินงานพบว่าได้ค้นพบแหล่งน้ำบาดาลใหม่ที่มีขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำบาดาลสูง และคุณภาพน้ำจืด ที่บริเวณ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ทั้งนี้ แหล่งน้ำ บาดาลดังกล่าว กักเก็บอยู่ในรอยแตกของหินปูนเม็ดทราย ที่ตกตะกอนในยุคคาร์บอนิเฟอรัส ถึงเพอร์เมียน มีความลึก 150 เมตรจากระดับผิวดิน ผลจากการสูบทดสอบปริมาณน้ำจากบ่อเจาะสำรวจ จำนวน 3 บ่อ พบว่าสามารถสูบน้ำบาดาลได้ในอัตรา 128.15 ถึง 188.76 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่ว โมง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการวางแผนก่อสร้างระบบกระจายน้ำให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป   ข้อมูลจาก : https://www.thairath.co.th/news

อนาคต“คลิตี้”ยังคลุมเครือ ผลเจรจาไร้ข้อสรุป จะเดินหน้าเฟส 2 หรือตั้งต้นใหม่เฟส 0

คลิตี้ยังปนเปื้อนตะกั่วเกินมาตรฐาน  กรมควบคุมมลพิษเผยว่า ก่อนหน้าการฟื้นฟูพื้นที่หมู่บ้านคลิตี้ปนเปื้อนตะกั่วสูงหลักแสนมิลลิกรัม/กิโลกรัม หลังจากกำจัดตะกอนปนเปื้อน 90,000 ตันแล้ว ปัจจุบัน ค่าตะกั่วแต่ละจุดฟื้นฟูลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เหลือเพียง 2,000 – 3,000 มก./กก. ทว่านักวิชาการซึ่งช่วยชุมชนติดตามความคืบหน้าโครงการ ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แย้งว่า คำกล่าวอ้างว่าได้ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจนเหลือค่าตะกั่วเพียงหลักพันนั้นไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าพื้นที่คลิตี้จะเป็นพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่วตามธรรมชาติ แต่ชุดข้อมูลและกระบวนการแปลผลของผู้ดำเนินการฟื้นฟูไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ปัจจุบัน คลิตี้ยังปนเปื้อนตะกั่วสูงราว 14,000 – 20,000 มก./กก. สูงกว่าค่าที่กรมควบคุมกำหนดไว้ว่า 1,800 มก./กก.อย่างต่ำ 8 เท่า เขาเผยว่าสาเหตุที่ภารกิจฟื้นฟูทำไม่สำเร็จ เป็นเพราะการฟื้นฟูนั้นไม่มีประสิทธิภาพและยังไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง (TOR) เช่น บ่อกักเก็บหางแร่เก่าของโรงแต่งแร่ขนาด 22 ไร่ ซึ่งเป็นต้นเหตุรั่วไหลทำให้ลำห้วยปนเปื้อนมาหลายปี ทุกวันนี้ยังคงรั่วแม้โครงการจำฟื้นฟูบริเวณดังกล่าว , ฝายดักตะกอนปนเปื้อนไม่สามารถดักตะกอนได้จริง , ไม่ได้ดูดตะกอนจากท้องน้ำทุกช่วงของลำห้วย และแม้จะดูดขึ้นมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัด ทว่ากลับไม่มีบ่อดักตะกอนอีกขั้นหนึ่ง เป็นการปล่อยน้ำที่ยังปนเปื้อนตะกั่วกลับสู่แหล่งน้ำ  ชลาลัย นาสวนสุวรรรณ เยาวชนคลิตี้ล่างแสดงเผยว่าที่ผ่านมา โครงการฟื้นฟูลำห้วยเฟส 1 ซึ่งดูดตะกอนปนเปื้อนตะกั่วจากลำห้วยและบริเวณตลิ่งนั้นสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ สังเกตได้ว่าน้ำตื้นขึ้นและมีขี้เลนมากใต้ท้องน้ำอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน พืชผักริมตลิ่งหาย อีกทั้งโครงการระยะแรกที่ปิดฉากไปเมื่อ 11 มกราคมที่ผ่านมาหลังจากทำงานมาร่วม 3  ปีไม่ได้สื่อสารกับชุมชนชัดเจนว่าผลการฟื้นฟูเป็นอย่างไร ทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่แน่ใจว่าสามารถใช้น้ำและหาอาหารจากลำห้วยได้ปกติแล้วหรือไม่ ห้วยคลิตี้บริเวณคลิตี้บน หลังการฟื้นฟู (มกราคม 2564) หรือปัญหาอยู่ที่ (ไร้) เป้าหมาย  ประเด็นหนึ่งที่คณะติดตามการฟื้นฟูลำห้วยภาคประชาชนและกรมควบคุมมลพิษซึ่งดำเนินการฟื้นฟูหารือร่วมกัน คือ ค่าเป้าหมายของงานฟื้นฟู ปี 2556 ศาลปกครองได้ตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินงานฟื้นฟูให้ลำห้วยให้น้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยมีค่าตะกั่วไม่เกินมาตรฐานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี จึงนำมาสู่การถกเถียงว่าควรฟื้นฟูลำห้วยให้ตะกั่วที่ปนเปื้อนลดลงถึงจุดใดถึงจะปลอดภัยต่อผู้คน คพ.ตั้งเป้าการฟื้นฟูไว้ให้ค่าความเข้มข้นตะกั่วลดลงเหลือ 1,800 มก./กก. ทว่าค่าดังกล่าวยังสูงกว่าเกณฑ์สากล 421 มก./กก. ขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA: Environmental Protection Agency) ซึ่งคำนวณว่าเป็นปริมาณตะกั่วในเลือดของเด็กที่ยอมรับได้ว่าปลอดภัย คือ 10 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ผศ.ดร.ธนพล แย้งว่า ค่าเป้าหมายของคพ.จะทำให้มีจำนวนเด็กที่สุขภาพไม่ปลอดภัยสูงถึง 19.50% จึงเสนอให้ตั้งค่าเป้าหมายการฟื้นฟูลำห้วยเป็น 563 มก./กก. เพื่อให้เหลือเด็กที่มีตะกั่วในเลือดเกินเกณฑ์เพียง 9.95% ปัจจุบัน ค่าเป้าหมายการฟื้นฟูทั้งสองตัวเลขยังไม่เป็นที่ยอมรับของศาลปกครอง  ศาลจึงกำหนดให้กรมควบคุมมลพิษตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสถาบันเพื่อศึกษาหาค่าเป้าหมายและนัดหารือเพื่อหาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยในเดือนมีนาคมนี้ ผลการฟื้นฟูลำห้วยเฟส 1 บริเวณคลิตี้ล่าง โดยคพ. นิวนอร์มอล “คลิตี้” ยังน่ากังวล กระทรวงสาธารณสุข เผยผลตรวจเลือดชาวคลิตี้ปี 2544 – 2563 ว่ามีปริมาณตะกั่วในเลือดลดลง ทั้งผู้ใหญ่และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ที่ผ่านมา พบว่าชาวคลิตี้ป่วยด้วยพิษตะกั่วหลายอย่าง เช่น ตัวบวม ไร้เรี่ยวแรง ตาบอด ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการเด็กและบางรายถึงขั้นเสียชีวิต สุขภาพที่ดีขึ้นนั้นสะท้อนว่ากระบวนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงหรือว่าชุมชนคลิตี้ได้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ไม่พึ่งพิงลำห้วยเหมือนอดีตกันแน่ สมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถาม “การที่ค่าตะกั่วในเลือดลดลงไม่ได้ความหมายว่าสิ่งแวดล้อมมันดีขึ้น แต่แปลว่าเขาปรับพฤติกรรมไม่ใช้น้ำหรือหาอาหารจากลำห้วยเหมือนเมื่อก่อน เปลี่ยนไปกินอาหารภายนอก นั้นเท่ากับผลักภาระให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างกลุ่มคนที่จนที่สุด ไม่มีเงินไปซื้ออาหาร กลุ่มเสี่ยงนี้เขามีกี่คนกันและเราต้องปกป้องเขา” สอดคล้องกับทัศนะของวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.ธนพล เชื่อว่าตามหลักการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูควรจะทำให้สิ่งแวดล้อมกลับมาเป็นดังเดิมให้ชุมชนสามารถมีวิถีชีวิตปกติ ไม่ใช่ปรับรูปแบบการใช้ชีวิตให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนซึ่งนับเป็นการครอบงำจากสถาบัน (Institutional Control) ปี 2545 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอนามัยได้ติดป้าย “งดบริโภคน้ำและปลาในลำห้วยชั่วคราว” และมีโครงการรณรงค์ให้ชาวคลิตี้ปรับพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการใช้น้ำ ด้านกรมควบคุมมลพิษ ยอมรับว่าปัจจุบันยังมีชาวบ้าน 10-20% ที่อาจจำเป็นต้องใช้น้ำจากลำห้วยโดยตรงอยู่ พันธุ์ศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำ ยืนยันว่า การปฏิบัติตัวของคนที่อยู่ในพื้นที่ศักยภาพแร่สูงจะต้องไม่ปฏิบัติตัวเหมือนคนปกติ เหมือนคนที่บ้านอยู่ริมถนนใหญ่จะปฏิบัติตัวเหมือนคนไกลถนนไม่ได้ ดังนั้นการป้องกันตะกั่วไม่ให้เข้าร่างกายจึงเป็นเรื่องสำคัญและที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐได้ออกข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวให้ชาวคลิตี้ตลอดมา ป้ายให้ความรู้เรื่องตะกั่วในหมู่บ้านคลิตี้ บทสรุป .. ยังไร้ข้อสรุป ด้วยข้อติดขัดต่างๆ ที่พบระหว่างเส้นทางการฟื้นฟู คณะทำงานศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาจึงยื่นหนังสือกับอธิบดีกรมควบคุมมลพิษพร้อมข้อเสนอหลัก 2 ประการ 1.เดินหน้าสู่โครงการฟื้นฟูเฟส 2 ต่อ โดยคพ.ต้องดำเนินโครงการฟื้นฟูเฟส 1 ตามค่าเป้าหมายให้สำเร็จก่อนเริ่ม และไม่ควรมีเฟส 3 เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่องบประมาณแผ่นดินที่ใช้ไป 2.ตั้งต้นใหม่เฟส 0 โดยตั้งกรรมการที่ภาคประชาชนและวิชาการมีส่วนร่วมเพื่อถอดบทเรียนความผิดพลาดของการออกแบบ การดำเนินการฟื้นฟูต่างๆ และหาทางที่เหมาะสม อิงหลักวิชาการ โปร่งใสและชุมชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ โดยอาจทำเป็นโครงการสาธิตก่อน โครงการเฟส 2 มีแผนดำเนินงานช่วงเมษายน – ธันวาคม 2564  โดยจะนำหางแร่ตะกั่วบนบกใกล้โรงแต่งแร่เก่าไปฝังกลบเพื่อป้องกันไม่ให้รั่วไหลลงลำห้วย ด้วยงบประมาณ 180 ล้านบาท อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เผยว่าโครงการฟื้นฟูเฟส 2 เป็นความต้องการของประชาชนชาวคลิตี้บนที่ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาตะกั่วปนเปื้อน ซึ่งมีทั้งบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตร เฟส 2 มีเนื้องานแตกต่างกับการทำงานขุดลอกตะกอนในลำห้วยที่ผ่านมาซึ่งก่อให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ ต่อคำถามที่ว่า จากการพูดคุยวันนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะดำเนินการเฟส 2 ตามกำหนดเดิมและหากดำเนินการเฟส 2 แล้วคลิตี้ยังปนเปื้อนตะกั่วจะต้องมีการดำเนินการเฟสถัดๆ ไปหรือไม่  “จะต้องดำเนินการหารือกับนักวิชาการก่อนเพื่อประเมินความเหมาะสมและคุ้มค่า” อธิบดี คพ. กล่าว ข้อความในงานประชุมหารือเรื่องปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการฟื้นฟู (พฤศจิกายน 2563) ยันไม่ได้เร่งเดินหน้าเฟส 2 เพื่อใช้งบ อธิบดีคพ.ยืนยันว่า ไม่ได้มีการเร่งดำเนินการโครงการระยะ 2 เพื่อใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรมาภายในปีนี้ตามข่าวลือ  “เราคงไม่อยากดำเนินหน้าโครงการที่สองทั้งที่โครงการที่หนึ่งยังไม่สมบูรณ์ สิ่งสำคัญที่สุดคือทำต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้ได้ ถ้าจะยุติเฟส 1 ก็คงต้องยุติในลักษณะที่คุ้มค่าต่องบประมาณที่ได้ทำไป ได้ผลที่น่าพอใจ ได้พร้อมๆ กับชี้แจงให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่าเฟสหนึ่งเราทำอะไรบ้าง จะได้ประโยชน์อะไร ต้องเปิดให้พี่น้องประชาชนรับทราบถึงแผนการต่อไป ถ้าเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย เราก็จะดำเนินการต่อเฟส 2” “ในอนาคตชาวบ้านจะอยู่ได้ภายใต้วิถีชีวิตที่ปลอดภัย มีการดำรงชีพที่สามารถใช้น้ำอุปโภคบริโภค ตามหลักสุขอนามัย ใช้อาหารสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในลำห้วยที่สามารถเอามาบริโภคได้ อันนี้คือเป้าหมายของเรา” ปัญหา “สายน้ำติดเชื้อ” ชุมชนคลิตี้ปนเปื้อนสารตะกั่วเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 40 ปี ตั้งแต่ปี 2518 เมื่อชาวบ้านในพื้นที่สังเกตพบว่า โรงแต่งแร่ บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) ได้มีการปล่อยน้ำเสียและทิ้งหางแร่ที่มีสารตะกั่วในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและการใช้ชีวิตปกติ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันยื่นฟ้องศาลศาลปกครอง  หลังการต่อสู้ในชั้นศาลหลายสิบปี ในที่สุด คำพิพากษาศาลปกครอง สั่งให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูแทนบริษัทตะกั่วฯ ที่เพิกเฉย หน่วยงานรัฐโดยการนำของ คพ. จึงได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ดำเนินการฟื้นฟูตั้งแต่ปลายปี 2560 จนถึง ก.พ. 2564 ด้วยงบประมาณร่วมสี่ร้อยล้าน    ข้อมูลจาก : Greenery News

“วันป่าชายเลนแห่งชาติ" 10 พฤษภาคม

“วันป่าชายเลนแห่งชาติ" 10 พฤษภาคม   #ความเป็นมา สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่าชายเลนเป็นครั้งแรกในพระราชพิธีแรกนาขวัญหว่านข้าว บริเวณสวนจิตรลดา ความว่า “...ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบันป่าชายเลนของไทยเรากำลังถูกบุกรุกและถูกทำลายลงไปโดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะต้นโกงกางเป็นไม้ป่าชายเลนที่แปลกขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นลงในการเติบโตด้วย จึงขอให้ส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง คือ กรมป่าไม้ กรมประมง กรมชลประทาน และกรมอุทกศาสตร์ ร่วมกันหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทดลองขยายพันธุ์โกงกางและปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป...”   จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกๆ ปี เป็น “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีแรกของประเทศไทยสำหรับวันป่าชายเลนแห่งชาติ . . ข้อมูล: สยามรัฐออนไลน์, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

เมื่อขยะในทะเล กลายร่างกลับมาเป็นรองเท้า “ทะเลจร”

เมื่อทุกคนทิ้ง “ขยะ” แล้วทำไมเรื่องจัดการ “ขยะ” ถึงไม่ใช่เรื่องของทุกคน             “Trash Hero” กลุ่มอาสาสมัคร ที่เกิดขึ้นโดยคนไทย ที่หลีเป๊ะ มื่อปี 2013 จากการรวมตัวกันของคนกลุ่มเล็กๆ เดินไปเก็บขยะตามชายหาด จากนั้นก็นำมาคัดแยก และทำให้เห็นว่า ขยะในทะเล ส่วนใหญ่เป็นขยะที่ลอยน้ำมาจากทั่วทุกสารทิศ อาสาสมัครหลายคนเริ่มมองเห็นปัญหา และเริ่มโปรเจกต์นี้อย่างจริงจัง กระทั่งกลายมาเป็น “Trash Hero Thailand”        สำหรับ “Trash Hero Thailand” มีอาสาสมัครกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย ทั้งกรุงเทพฯ, เชียงใหม่, เชียงราย, ชลบุรี, จันทบุรี, หัวหิน, อ่าวนาง, เกาะลันตา, เกาะพีพี, ปัตตานี, ภูเก็ต ฯลฯ ซึ่งการดำเนินงานของ “Trash Hero” ในจังหวัดต่างๆ มีจุดประสงค์หลักคล้ายกันคือ สร้างจิตสำนึกในเรื่องของขยะให้กับคนในพื้นที่ ดึงคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม สร้างโมเดลการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยมีการวางแผนทั้งระยะสั้น และระยะยาวผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยมีทีมลีดเดอร์ของแต่ละพื้นที่เป็นคนดูแล ประสานงาน จากจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทย แนวคิดของ “Trash Hero” ถูกกระจายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ภายใต้ชื่อ “Trash Hero World” ทั้งอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, โปแลนด์, โรมาเนีย, สวิตเซอร์แลนด์, ฮอลแลนด์, สหรัฐอเมริกา ฯลฯ มีอาสาสมัครจากทั่วโลกแล้วเกือบ 4 แสนคน ร่วมกันเก็บขยะไปแล้ว 1.8 ล้านกิโลกรัม จากชายหาด และเมืองต่างๆ จากการพูดคุยกับ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย จากภาคปฏิบัติของสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นลีดเดอร์ของ “Trash Hero Pattani” เล่าว่า "Trash Hero" เป็นองค์กรอาสาสมัคร ที่รณรงค์ในเรื่องการเก็บขยะ และมีหน้าที่ไปเก็บขยะทุกสัปดาห์ โดยองค์กรนี้ขับเคลื่อนด้วยอาสาสมัคร ที่ไม่มีเจตนาในการระดมทุนใดๆ คนที่จะมาเป็นอาสาสมัคร ไม่จำเป็นต้องเป็นเมมเบอร์ จะเป็นใครก็ได้ ซึ่งแต่ละกิจกรรมที่จัดขึ้น จะมีการประกาศผ่านเฟซบุ๊กในทุกสัปดาห์ ระบุวัน เวลา สถานที่ไว้ชัดเจน หากใครอยากมาร่วมกิจกรรม ก็สามารถมาเข้าร่วมได้เลย   มอง "ขยะ" เป็นทรัพยากร สำหรับที่ปัตตานีเอง เริ่มต้นมาจากการที่ผมทำงานด้านรีไซเคิลอยู่แล้ว พอได้ศึกษากระบวนการทำงานของกลุ่ม "Trash Hero Koh Lipe" ที่มีการทำงานทุกสัปดาห์ ซึ่งผมรู้ดีว่า วัตถุดิบที่จะนำมารีไซเคิล ไม่ได้หามาได้ง่ายๆ ต้องมีการเก็บ เก็บที ก็มาที มันก็เป็นไอเดียที่ดีในการเปลี่ยนแปลงโลกของคนทำรีไซเคิล ผมเลยติดต่อไป ขอมาตั้งเป็น “Trash Hero Pattani” หลักๆ ผมมองในฐานะของผู้ใช้วัตถุดิบจากการเก็บมาก่อน พอมาเป็นอาสาเก็บขยะ จากที่เรามองเป็นวัตถุดิบ เราก็มองเป็นทรัพยากร หมายความว่า เราเริ่มมองเห็นปัญหาในเรื่องของขยะมากขึ้น ในส่วนของปัตตานีเอง มีขยะที่เก็บจากทะเลไปแล้ว ประมาณ 2 หมื่นกว่ากิโลกรัม ซึ่ง “Trash Hero” แต่ละพื้นที่ ก็จะมีพื้นที่จัดการในเรื่องของการเก็บขยะแตกต่างกันไป คนที่เชียงใหม่ ก็ต้องจัดการในพื้นที่อื่น ซึ่งไม่ใช่ขยะในทะเล เป็นต้น   ซึ่งหากจะพูดถึงขยะในทะเล ดร.ณัฐพงษ์ บอกว่า เอาจริงๆ ขยะในทะเลเหล่านี้ ก็เป็นขยะที่มาจากแม่น้ำ ซึ่งมนุษย์เจตนาที่จะทิ้งกันเป็นถุงๆ และขยะเหล่านี้ก็จะไหลไปตามท่อ สุดท้ายแล้ว แม่น้ำทุกสาย ก็จะไหลมาลงทะเล และมันก็ไม่มีหรอก ที่คนทิ้งจะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ไม่มีใครบอกว่า เป็นขยะของเรา แต่ถ้ามองจริงๆ ขยะเหล่านี้ ก็ของเราทั้งนั้น แม้กระทั่งจุดทิ้งขยะของเมืองโดยหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ส่วนใหญ่ก็อยู่ริมแม่น้ำ เพราะเป็นที่รกร้าง พื้นที่ชุ่มน้ำ ทำอะไรไม่ได้ นึกภาพว่าถ้าฝนตกครั้งหนึ่ง ทุกอย่างก็จะถูกชะลงแม่น้ำ ก่อนที่จะไหลรวมลงสู่ทะเล เป็นวัฏจักร ส่วนขยะที่อยู่ในทะเล หากอยู่ใกล้ต้นน้ำ ส่วนใหญ่เป็นขยะสด นำมารีไซเคิลไม่ค่อยได้ นอกจากนำมาทำปุ๋ย พอมาถึงปากแม่น้ำ ก็จะพบกับขยะที่ย่อยสลายไม่ได้มากขึ้น อาทิ ขวดแก้ว พลาสติก แต่ถ้าไปไกลกว่าปากแม่น้ำอีก เราจะเจอแต่ขยะที่ลอยง่าย และลอยได้ไกล ฉะนั้นถ้าเราพูดถึงขยะในทะเล ส่วนใหญ่ก็จะเหลือแต่ “พลาสติก” ซึ่งโดยหลักการ สามารถนำมารีไซเคิลได้ แต่บริษัทรีไซเคิลส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับ เนื่องจากมีความสกปรก มีทราย แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทที่ใหญ่มากๆ ก็จะคิดถึงเรื่อง value ยิ่งถ้าเราบอกว่า ทั้งหมดนี้เป็นขยะที่เก็บมาจากทะเล เขาก็จะนำไปสร้างสตอรี่ในการขายสินค้า ซึ่งทำให้สามารถขายสินค้าได้แพงมากขึ้นด้วย   จากรองเท้าเก่า สู่รองเท้า "ทะเลจร" สำหรับ “Trash Hero Pattani” เอง มีการต่อยอดจากขยะประเภทรองเท้าที่เก็บได้จากทะเล มารีไซเคิลเป็น material พื้นยาง ก่อนหน้าเราทำเพื่อที่จะนำไปแข่งในโครงการแผนธุรกิจ รายการหนึ่ง ที่เกี่ยวกับ Social Enterprise (โมเดลธุรกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการสามารถสร้างผลกำไร) โดยเรามานั่งคิดว่า การจะทำแค่ material ไปแข่ง อาจจะทำให้เข้าถึงยาก ดังนั้น จึงมีการเปลี่ยนจาก material เป็น product เพื่อให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น ตอนนั้นคนในทีมก็เสนอว่า ทำเป็นรองเท้าเลยได้ไหม ไหนๆ ก็เก็บรองเท้าเหล่านี้มาทำ material แล้ว ก็แปลงกลับไปเป็นรองเท้าอีกรอบ ซึ่งเป็นการคิดที่ไม่ซับซ้อน และสามารถทำได้จริง จึงเป็นที่มาของการทำรองเท้า ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ทะเลจร”   ในการแข่งขันครั้งนั้น เราไม่ได้ชนะ เนื่องจากสิ่งที่กรรมการตั้งคำถามกับเราว่า ด้วยวัตถุดิบของเรามาจากขยะในทะเล เก็บโดยอาสาสมัคร มันทำให้เราไม่รู้ต้นทุน ไม่รู้ปริมาณ และไม่รู้ว่าจะโตได้อย่างไร อีกทั้ง ถ้าขยะหมด เราจะทำอย่างไร เขาจึงมองว่า สิ่งที่เราคิดออกมา มันเป็นแผนธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน แต่เราก็มี Mindset ว่า เราทำสิ่งนี้ไม่ใช่ทำเพื่อหาเงิน แต่เราทำเพื่อแก้ปัญหา ดังนั้น พอจะดำเนินการจริงๆ ก็มาคิดว่า เราจะไม่ทำเป็นโรงงาน แต่เลือกที่จะเดินเข้าไปหาชาวบ้านให้เขามาช่วยเรา ชวนเขามาทำงานด้วยกัน       ครั้งแรกผมไปหาชาวบ้านที่จะมาทำงานให้ ผมไปหาที่งานโอทอปในกรุงเทพฯ แต่กลับกลายเป็นว่า ได้เจอกับชาวบ้านที่อยู่ปัตตานี ซึ่งทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผ้าปาเต๊ะอยู่ ผมก็คุยกับเขาว่า อยากได้ packaging ให้กับรองเท้า เนื่องจากผมคิดว่า ถ้าเราขายรองเท้า โดยมีพลาสติกเป็น packaging จะหลุดคอนเซปต์ จากนั้นก็ทาบทามว่า นอกจาก packaging แล้ว สนใจมาทำรองเท้าให้เราไหม โดยที่เราจะเป็นคนสอนให้ เพราะถ้าทำแต่ packaging ไม่มีตัวรองเท้า ก็ขายไม่ได้ เนื่องจากสินค้าเราคือ รองเท้า โดยรายได้ที่ชาวบ้านจะได้รับนั้น จะได้รับทันทีหลังจากที่ส่งรองเท้าที่ทำเสร็จให้เรา ไม่ต้องมารอว่าเราจะขายได้เมื่อไรถึงจะได้ส่วนแบ่ง เพราะเราไม่ได้มีออเดอร์ที่เยอะขนาดนั้น และเราอยากที่จะเลี้ยงชาวบ้านกลุ่มนี้ที่เป็นกลุ่มแม่บ้าน ผู้หญิงล้วน ซึ่งได้รับผลกระทบจากความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้แข็งแรง และขยายงานในเชิงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ให้มากขึ้น เช่นการเข้าไปมีส่วนช่วยพัฒนาหมู่บ้าน ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการเปิดรับนักเรียนแลกเปลี่ยนจากมาเลย์ให้เข้ามานอนในหมู่บ้านได้ เป็นเหมือนโฮมสเตย์ เพราะก่อนหน้า ด้วยความที่พื้นที่ตรงนี้ถูกทาให้เป็นสีแดง ช่วงแรกเราไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เลย อยากได้อะไร จะส่งของ รับของ ต้องบอกให้ชาวบ้านเป็นคนออกมา ปัจจุบัน เราพัฒนาจนพื้นที่นี้เข้าไปเป็นหนึ่งในลิสต์ของ ททท. คนที่เข้ามาดูงานของกลุ่ม “ทะเลจร” ก็จะได้ศึกษาความเป็นอยู่ของชาวบ้านด้วย   ไม่ใช่แค่รายได้ แต่อยากให้คุณภาพชีวิต ย้อนกลับมาที่ขั้นตอนการทำรองเท้า “ทะเลจร” จากขยะ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนรองเท้าที่เก็บมาได้จากทะเล โดยหลังจากที่เก็บมาได้แต่ละชิ้น ก็จะนำมาทำความสะอาด จากนั้นบดเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกาว อัดด้วยความร้อน เพื่อทำเป็น material ก่อนจะนำไปให้ชาวบ้านประกอบเป็นรองเท้า มีการตัดตามแบบ ใส่หู ประกอบตามรุ่น ติดป้าย บรรจุลง packaging แล้วส่งกลับมาให้เรา  ตั้งแต่เริ่มโครงการ “ทะเลจร” ผลิตรองเท้าออกมาแล้วประมาณ 7 รุ่น จากรุ่นแรกเรามีการพัฒนามาเรื่อยๆ กระทั่ง 2 รุ่นล่าสุด ที่สามารถทำราคาได้สูงขึ้น ซึ่งชาวบ้านก็จะได้เงินมากขึ้นด้วย แต่กว่าจะถึงวันนี้ ก็ใช้เวลากว่า 5 ปี ในการฝึกให้ชาวบ้านได้พัฒนาฝีมือ ทำอะไรที่ยากขึ้น เพื่อแลกกับรายได้ที่มากขึ้น แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เราอยากจะให้ชาวบ้านจริงๆ คือ ทักษะ ความรู้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งก็ต้องใช้เวลา สำหรับกลุ่มลูกค้า ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ยอมจ่ายเงินซื้อรองเท้าในราคาแพง เพียงเพื่อความรู้สึกที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสิ่งแวดล้อม หรือประเด็นอื่นๆ ที่เขาสนใจ บวกกับคนรุ่นเก่าอีกจำนวนหนึ่งที่ยอมทุ่มเทกับตรงนี้     ในขณะที่บางคนบอกให้เราลดราคาลง เพื่อที่จะขายได้มากขึ้น แต่เรามองว่า สิ่งที่เราทำอยู่ ไม่ได้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ถ้าเราจะปรับราคาให้ถูกลง ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรามองว่า ถ้าเราซื้อของถูก คนแรกที่จะโดนกดคือ แรงงานที่ไม่มีสิทธิ์เลือก ในที่นี้ก็คือชาวบ้าน ดังนั้น ก็อยากให้คิดว่า การซื้อของบางอย่างในราคาที่ถูกลง มันกระทบกับใครบ้าง ของบางอย่าง มันไม่ควรถูกจนเกินไป นี่ก็เป็นอีกสารหนึ่งที่อยากจะสื่อออกไป นอกจากรายได้แล้ว สิ่งที่เราสร้างให้ชาวบ้านคือ ให้โอกาสชาวบ้านได้มองเห็นภาพของโลกในมุมที่กว้างขึ้น มองเห็นว่า “ขยะ” สามารถนำมาแปรเป็นรองเท้าที่สร้างมูลค่าได้มากกว่าที่หลายคนจะซื้อใช้ด้วยซ้ำ สองคือ การที่คนในหมู่บ้าน เริ่มเปิดรับคนนอกให้เข้าไปในพื้นที่ มันเกิดภาพของความเข้าใจระหว่างคนเมือง และชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล ให้เขาได้รู้จัก และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกัน เราก็สอนเขาในเรื่องของกระบวนการมาร์เก็ตติ้ง การทำแบรนด์ ต้องทำอย่างไร ปัจจุบัน เขาก็พัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ ในงานผ้าของเขาเอง นอกจากรองเท้า “ทะเลจร” แล้ว Trash Hero ยังมีอีก 2 โปรเจกต์ ที่เรารณรงค์กันอยู่ คือ การรณรงค์ให้พกกระบอกน้ำ แทนที่จะไปซื้อน้ำขวด ซึ่งกระบอกของ Trash Hero สามารถเติมน้ำดื่มได้ฟรีทั่วโลก ตลอดชีพ ทุกจุดที่มีจำหน่ายกระบอกน้ำ และถุงผ้าไนลอน ที่นำมาใช้แทนถุงพลาสติก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นฝีมือคนไทย เพราะ “Trash Hero” เริ่มที่ไทย     "ขยะ" ในทะเล ไม่มีวันหมด? ในยุคสมัยที่คนหันมาใส่ใจในเรื่องของขยะ และเรื่อง Zero Waste มากขึ้น เราถาม ดร.ณัฐพงษ์ ว่า ในฐานะคนที่ทำงานด้านนี้ คิดไหมว่า จะมีสักวันที่ในทะเลไม่มีขยะ ซึ่ง ดร.ณัฐพงษ์ หัวเราะ แล้วบอกกับเราว่า ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมบอกเลยว่า “เป็นไปไม่ได้” ด้วยจำนวนขยะที่อยู่ในทะเล เราเก็บไม่ไหว สองคือ เทคโนโลยี เพราะขยะส่วนใหญ่ จะอยู่ใต้ทะเล เราก็ไม่รู้จะเก็บอย่างไร ถ้าดูจากหลักการมันจึงเป็นไปไม่ได้เลย “หากมองภาพว่า ทะเล คือน้ำที่กำลังล้นอ่างอยู่ สิ่งที่เราทำคือ การหยิบไม้ม็อบมาเช็ดน้ำที่ไหลออกมา เราก็เช็ดไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน เราก็มาคิดว่า ทำไมเราไม่ปิดก๊อก ใครที่สามารถปิดก๊อกไม่ให้น้ำล้นได้ ปิดให้เราได้ไหม เรากำลังจะสื่อว่า เราเลิกใช้ขวดน้ำได้ไหม เราเลิกใช้พลาสติกได้ไหม เราเลิกใช้ของที่ต้องทิ้งได้หรือไม่ เป็นกิจกรรมที่เราอยากตั้งคำถามว่า วันหนึ่งเราจะปิดก๊อกกันไหม แล้วค่อยมาคาดหวังว่า จะมีใครขุดขยะใต้ทะเลเหล่านี้ขึ้นมาไหว แต่ตอนนี้ถ้าถามจริงๆ คือมันไม่หมด ไม่มีทางหมด การไม่มีขยะในทะเล เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ถ้าชายหาดไม่มีขยะ อาจมีลุ้น เพราะมีคนเก็บ มีกระบวนการเก็บ” ดร.ณัฐพงษ์ กล่าว ข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์ รูปภาพ : Trash Hero Thailand, Trash Hero Pattani, Tlejourn ทะเลจร  

นวัตกรรมถุงพลาสติกรักษ์โลก

นวัตกรรมใหม่จากฝีมือของคนไทยกับงานวิจัยนานร่วม 10 ปี สำหรับการพัฒนาถุงพลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยการใช้แป้งมันสำปะหลังที่จะเข้ามาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการทดแทนถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งมีระยะเวลาการย่อยสลายที่ช้ามากและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง . ขยะจากอาหาร (Food Waste) นับว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทย เพราะเป็นขยะที่เกิดขึ้นในสังคมมากกว่า 60% จากขยะทั้งหมด การพัฒนาถุงพลาสติกสลายตัวจากขยะอินทรีย์หรืออาหาร จึงมีความสำคัญอย่างมากนั่นเอง จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. เล่าว่า ปัญหาขยะพลาสติก กลายเป็นประเด็นสำคัญทั่วโลกตื่นตัวกันมาก ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกสู่ท้องทะเลมากที่สุดของโลก สาเหตุสำคัญมาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง มีอัตราส่วนที่มากขึ้น 40% ของขยะพลาสติกทั้งหมด เพื่อลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม นั่นคือที่มาของความร่วมมือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาถุงพลาสติกสลายตัวสำหรับขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นสูตรพลาสติกชีวภาพโดยใช้วัตถุดิบจากแป้งมันสำปะหลัง โดยร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (TBiA) และบริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ ประเทศไทย จำกัด และบริษัทบีเอเอสเอฟ (ไทย) ผู้สนับสนุนวัตถุดิบเม็ดพลาสติกชีวภาพ และบริษัททานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกสลายตัวได้ ใช้ระยะเวลานานกว่า 10 ปี สำหรับการพัฒนานวัตกรรมในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม “การใช้ซ้ำ” หรือ “การนำกลับมาใช้ใหม่” การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ ก็ยังคงเป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าที่สุด และยังเป็นการรักษาสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนต่อไป . ข้อมูลอ้างอิง: https://brandinside.asia/food-waste, http://www.deqp.go.th

logoTEST TECH

บริษัท เทสท์ เทค จำกัด (สำนักงานใหญ่)
30, 32 ซอยพระรามที่ 2 ซอย 63 ถนนพระรามที่ 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
โทร: 02-893-4211-17, 087-928-5554
แฟกซ์: 02-893-4218
อีเมล: info@testtech.co.th, wanwalee.d@testtech.co.th
เราใช้คุกกี้ในเว็บไซต์ของเราเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเว็บไซต์ และเพื่อการให้บริการที่ดีที่สุดสําหรับคุณ โปรดอ่านนโยบายการใช้คุกกี้ เมื่อคุณเข้าใช้เว็บไซต์นี้เราถือว่าคุณยินยอมให้จัดเก็บและเข้าถึงคุกกี้บนอุปกรณ์ของคุณ
3000
4900
th