Facebook: TestTech
Line: @Testtech
02-893-4211-17
ภาษาไทย
ภาษาไทย
เข้าสู่ระบบ/สมัครสมาชิก
logo
หน้าหลัก
บริการของเรา
บริการของเรา
บริการทดสอบ
บริการอื่นๆ
ผลิตภัณฑ์ของเรา
ชุดตรวจวิเคราะห์
เคมีภัณฑ์
บริษัทของเรา
เกี่ยวกับเรา
ทำไมต้องเรา
เครื่องมือของเรา
ร่วมงานกับเรา
ประชาสัมพันธ์
ติดต่อเรา
ภาษาไทย
ภาษาไทย
เข้าสู่ระบบ/สมัครสมาชิก
fb
line
phone
ข่าวสารประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
>
ข่าวสารประชาสัมพันธ์
ข่าวสาร
Test Tech
โควิด-19: ปัญหาขยะทางการแพทย์แก้ไขอย่างไรดี เพื่อรักษาทั้งชีวิตและสิ่งแวดล้อม
เมื่อ แคล เตเวซ (นามสมมติ) ศัลยแพทย์ชาวฟิลิปปินส์ไปร่วมโครงการฝึกงาน 6 เดือนที่โรงพยาบาลในสิงคโปร์ เธอต้องปรับตัวหลายอย่าง จากที่ทำงานในโรงพยาบาลที่ดูแลคนยากจนในประเทศที่กำลังพัฒนา เธอได้มาอยู่ในโรงพยาบาลที่มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยในประเทศที่ร่ำรวยกว่ามาก แต่สิ่งที่เธอต้องแปลกใจอีกประการหนึ่งคือ โรงพยาบาลแห่งนี้ใช้พลาสติกเป็นจำนวนมหาศาลแค่ไหน ในห้องผ่าตัด เครื่องมืออย่างเครื่องถ่างแผลพลาสติกต้องกลายเป็นขยะทางการแพทย์เมื่อการผ่าตัดแต่ละครั้งเสร็จสิ้นลง ขณะที่ในฟิลิปปินส์ เธอและเพื่อนแพทย์ต้องนำเครื่องมือเหล่านี้ไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อเอากลับมาใช้ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า นี่ทำให้เธอตัดสินใจแอบเก็บเครื่องมือที่ทำจากพลาสติกสำหรับใช้ครั้งเดียวเหล่านี้ไว้โดยได้ความช่วยเหลือจากเพื่อนแพทย์ที่สนับสนุนเธอ ในที่สุด เธอก็เก็บสะสมเครื่องมือเหล่านี้จนใส่เต็มกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ได้ แต่การพูดคุยเรื่องผลกระทบของวงการแพทย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมักทำให้เกิดประเด็นถกเถียง เพราะถึงที่สุดแล้ว การช่วยชีวิตคนไข้ตรงหน้าก็สำคัญกว่าข้อกังวลอื่นใด เตเวซก็เห็นด้วยในเรื่องนี้ ที่เธอเก็บสะสมเครื่องมือจากที่โรงพยาบาลนี้ก็เพื่อไปช่วยเหลือคนไข้ของเธอที่ฟิลิปปินส์เหมือนกัน และหากมองในมุมนี้ การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนก็เป็นการช่วยเหลือคนไข้เช่นกัน ที่มาของภาพ,REUTERS องค์กรการดูแลสุขภาพที่ปราศจากผลอันตราย(Health Care Without Harm) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ระบุว่า หากนับระบบสาธารณสุขในประเทศต่าง ๆ เป็นประเทศหนึ่ง ประเทศดังกล่าวจะเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก เทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของโรงงานผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 514 แห่ง หรือร้อยละ 4.4 ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดทั่วโลก ทีมา: https://www.bbc.com
“บานาน่ามาเช่” ผลิตภัณฑ์ที่จะเปลี่ยนให้การรักษ์โลกเป็นเรื่องกล้วย ๆ
ก่อนหน้านี้ Creative Citizen เพิ่งเสนอเรื่องกระเป๋าเป้แบ็กแพ็กแบรนด์จากสวิตเซอร์แลนด์ที่นำเอาต้นกล้วยมาใช้เป็นวัสดุหลัก ล่าสุด บ้านเราซึ่งเป็นแหล่งปลูกต้นกล้วยมากมายก็มีงานโปรดักต์สวยๆ ที่ทำมาจากกาบกล้วย ต้นกล้วย และใบตอง เหมือนกัน นั่นคือแบรนด์ C-sense Bananamache’ ซึ่งแว่วว่าในงาน Craft Bangkok 2019 ที่เพิ่งผ่านไป กลายเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จริงๆ แล้ว C-sense Bananamache’ โดย ปิยะนุช ชัยธีนะยานนท์ เริ่มนำเอากาบกล้วยแห้ง ใบตองแห้ง มาใช้เป็นวัสดุหลักในการทำภาชนะใส่ของ-อาหาร และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อส่งออกไปขายในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2544 แล้ว ซึ่งก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างดีจากตลาดยุโรป ส่วนในเมืองไทยนั้น สมัยนั้นยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเพราะผู้คนยังไม่ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมกันเท่าไร ในกระบวนการทำ ทีมช่างของแบรนด์จะใช้กาบกล้ายที่อยู่ชั้นด้านในนำไปผึ่งให้แห้ง เช่นเดียวกับใบตองที่หลังจากถูกปล่อยให้แห้งก็จะนำเอามาทำความสะอาด จากนั้นจึงนำมาขึ้นโครงรูปทรงต่างๆ โดยใช้แป้งเปียกทา ประกอบกันสัก 3-4 ชั้น ตกแต่งพื้นผิวชั้นนอก แล้วเคลือบด้วยสารสูตรป้องกันเชื้อรา ภาชนะของ C-sense Bananamache’ สามารถนำไปใส่อาหารแห้งและของใช้ต่างๆ ได้ และสามารถมีอายุการใช้งานได้ถึง 5-10 ปี หากล้างทำความสะอาดทันทีหลังใช้งาน แต่ถึงจะมีอายุการใช้งานน้อยไปหน่อย อย่างน้อยเราก็เบาใจได้ว่าสามารถย่อยสลายได้ทางธรรมชาติเพราะทำจากวัสดุจากธรรมชาติ โปรดักต์ของ C-sense Bananamache’ มีตั้งแต่จานใส่ของว่าง กล่องใส่ของกระจุกกระจิก ไปจนถึงโคมไฟ นอกจากเสน่ห์หลักๆ จะอยู่ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแล้ว ก็ยังมีดีไซน์ร่วมสมัย อยู่ในโทนสีธรรมชาติสบายตา โดยภาชนะบางชิ้นน่ารักน่าชังเพราะทำรูปทรงเลียนแบบใบตอง และอีกหลายชิ้นก็เลือกใช้ลวดลายบนพื้นผิวด้านนอกเป็นลายของกาบกล้ายที่สวยไม่ซ้ำใคร ที่สำคัญ นี่นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับต้นกล้วยที่มีอยู่ดาษดื่นในบ้านเราได้เป็นอย่างดี และในการทำธุรกิจโปรดักต์ดีไซน์ครั้งนี้ นอกจากจะหาวัสดุมาใช้ได้อย่างง่ายดายแล้ว ก็ไม่ทำร้ายโลกแน่นอน อ้างอิง: Facebook: Bananamache, www.thairath.co.th
วิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมของกรมควบคุมมลพิษ
#วิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรที่สังคมเชื่อมั่นในการจัดการมลพิษเพื่อปกป้องคุณภาพสิ่งแวดล้อม” #พันธกิจ 1. พัฒนามาตรฐาน เครื่องมือและกลไกในการจัดการมลพิษที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี 2.ยกระดับความสามารถบุคลากร เทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรมในการจัดการมลพิษ 3. สื่อสาร ขยายหุ้นส่วนความร่วมมือ และสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการมลพิษ 4. กำกับ ดูแล และพัฒนากฎหมายสิ่งแวดล้อมด้านการจัดการมลพิษ 5. ประสานความร่วมมือด้านการจัดการมลพิษกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายใน และระหว่างประเทศ
การจัดการขยะมูลฝอยให้ได้ผลโดยเฉพาะขยะจากพลาสติกซึ่งใช้เวลาย่อยสลายนาน ต้องใช้หลายวิธีการไปพร้อม ๆ กัน โดยต้องเริ่มจากลดการใช้ลง รู้จักคัดแยกขยะ และนำขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยยึดหลัก 3Rs
R แรกคือ Reduce ใช้น้อยหรือลดการใช้ การลดปริมาณการใช้ลง ใช้เท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้อย่างฟุ่มเฟือยเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกและโฟมที่กำจัดยาก วิธีการลดง่าย ๆ ด้วยการสร้างนิสัยการใช้ตะกร้าหรือถุงผ้าในการซื้อของ ใช้แก้วส่วนตัวแทนการใช้แก้วครั้งเดียวทิ้ง ทานข้าวให้หมดจาน พกกล่องใส่อาหาร หรือเลือกซื้อบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม . Reuse ใช้ซ้ำ การนำบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้อีกโดยไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น การใช้ถ่านไฟฉายแบบชาร์ตใหม่ได้ การนำเสื้อผ้าเก่าไปบริจาคหรือทำไม้ถูพื้น การซ่อมแซมอุปกรณ์และสิ่งของต่าง ๆ การใช้สินค้ามือสอง กระดาษสองหน้า . Recycle การคัดแยกขยะที่สามารถนำมารีไซเคิล เช่น กระดาษ แก้วพลาสติก โลหะ/อะลูมิเนียม เพื่อนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต หรือเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น การนำขวดพลาสติกใส (PET) มาแปรรูปเป็นเสื้อ นำกระป๋องอะลูมิเนียมมาหลอมเป็นขาเทียม นำกล่องนมยูเอสทีมาแปรรูปเป็นหลังคา (1) . กระบวนการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้ได้เสียก่อน เมื่อสามารถปรับพฤติกรรมให้รักษ์โลกได้ จะนำไปสู่การจัดการขยะเหลือให้ศูนย์ (Zero Waste) มากขึ้น นั่นหมายถึงการรีไซเคิลจะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน . อย่างไรก็ดี การตระหนักและความซื่อสัตย์ต่อตัวเองในการจับจ่ายซื้อสินค้าให้สามารถลดขยะหรือลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้จะต้องเข้มงวดในการปฏิบัติตนจนกลายเป็นนิสัย . นอกจากแนวทาง 3Rs ที่กล่าวมาแล้ว ยังมี R ตัวอื่น ๆ ที่หลายคนอาจจะพอคุ้นหูกันอยู่บ้าง ซึ่งเป็นการขยายความจาก 3Rs ข้างต้น นั่นคือ Refill การเติม, Repair การซ่อมแซมและ Replace การแทนที่ ซึ่งจะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของเรามีความเข้มงวดในการรักษ์โลกมากยิ่งขึ้น . หากสามารถทำได้โดยไม่ฝืนตัวเองหรือสร้างภาระต่อการดำรงชีวิต ตัวเราก็จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยอัตโนมัติ จนแทบจะเรียกได้ว่าใช้ชีวิตโดยมีขยะเหลือไปยังหลุมฝังกลบน้อยที่สุด ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในการจัดการขยะให้เหลือศูนย์ . ตัวอย่างการ Refill คือนำภาชนะไปเติม ทดแทนการซื้อใหม่ แค่นำภาชนะประเภทขวดไปเติมก็จะช่วยลดขยะภายในครัวเรือน อาทิ การเติมน้ำยาล้างจาน ยาสระผม สบู่เหลว รวมถึงข้าวสาร ธัญพืช เครื่องปรุงรส ฯลฯ . Repair การซ่อมแซม เพื่อลดการซื้อใหม่ แม้การซื้อสินค้าใหม่จะสะดวกกว่าการซ่อม ทว่าการซ่อมแซมของใช้เองอาจทำให้เรามีความสุขมากกว่าการออกไปซื้อของใหม่ เนื่องจากสามารถเข้าเว็บไซต์หาวิธีทำได้ง่าย ๆ . Replace การแทนที่ หมายถึง การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แทนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ใช้แปรงสีฟันด้ามไม้ไผ่แทนแปรงสีฟันด้ามพลาสติก ใช้ไหมขัดฟันจากไหมธรรมชาติ หรือแม้แต่การเลือกสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เช่น ใบบัว/ใบตองห่ออาหาร จานกาบหมาก เป็นต้น แม้จะยังก่อให้เกิดขยะอยู่บ้าง แต่ก็ดีกว่าการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งเพราะย่อยสลายได้ (2) . หากทุกคนปฏิบัติตัวเข้มงวดต่อหลัก 3Rs จะช่วยลดขยะพลาสติกบนโลกลงได้จำนวนมหาศาล และใครทำได้มากกว่านั้นก็จะยิ่งช่วยดูแลโลกมากยิ่งขึ้น . ท่านสามารถอ่านบทความนี้แบบเต็มอิ่มจุใจได้ทาง https://www.deqp.go.th/new/ยึดหลัก-3rs-ช่วยโลกลดขยะ-ใช/ นี้ได้เลยนะครับ . #คุณภาพสิ่งแวดล้อมคือคุณภาพชีวิต ที่มา: 1)https://eservice.deqp.go.th/media/details?media_group_code=10&media_type_id=7&media_id=2448 2)https://www.greenpeace.org/thailand/story/16588/plastic-7r-to-manage-single-use-plastic-problem/
ภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม ผนึกกำลังลดปริมาณขยะลงสู่ทะเล
โครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) จัดขึ้นโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกับโครงการมือวิเศษ x วน และโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน และมีการติดตั้งจุดรับคืน (drop point) ขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) ให้ประชาชนนำมาทิ้งกว่า 300 จุดทั่วประเทศ อาทิ หน่วยงานภาครัฐทั้ง 20 กระทรวง มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาเก็ต และร้านสะดวกซื้อที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชนที่เข้าร่วมเป็นเครือข่าย อย่างไรก็ตาม พลาสติกที่จะนำมาคืนจะต้องสะอาดและแห้ง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ พลาสติกยืดและพลาสติกแข็ง พลาสติกยืด เช่น ถุงหูหิ้ว ถุงช็อปปิ้ง ฟิล์มหุ้มแพ็คขวดน้ำ ฟิล์มห่อสินค้า ฟิล์มหุ้มแพ็คกล่องนม ถุงน้ำแข็ง ซองไปรษณีย์พลาสติก พลาสติกกันกระแทก ถุงซิปล็อค/ซองยา ถุงขนมปัง ถุงน้ำตาลทราย ถุงผักผลไม้ สามารถนำไปคืนได้ที่ถังของโครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) และ โครงการ “มือวิเศษxวน” ส่วนพลาสติกแข็ง เช่น กล่องพลาสติกใส่อาหาร แก้วกาแฟ หลอดพลาสติก ชุดช้อมส้อม ขวดพลาสติก สามารถนำไปคืนได้ที่ถังของโครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) และโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน ทั้งนี้ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2563 มีปริมาณพลาสติกที่ได้รับคืน แบ่งเป็นพลาสติกยืด 44.05 กิโลกรัม และพลาสติกแข็ง 86.46 กิโลกรัม หลังจากนี้จะนำขยะทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และอัพไซคลิ่งเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น รีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (ถุงหูหิ้ว ไม้เทียม) การอัพไซเคิลเป็น “จีวรรีไซเคิล” ซึ่งบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้ร่วมกับวัดจากแดง ริเริ่มขึ้น นอกจากนี้จะนำไปผลิตชุด PPE สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์รักษ์โลกอื่น ๆ ซึ่งจะมอบให้กับมูลนิธิสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อรักษาและช่วยชีวิตสัตว์ทะเล หรือกลุ่มอาสาสมัคร ชุมชน วัด หรือโรงเรียน ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ในการดำรงชีวิตหรือขาดแคลนทุนทรัพย์ สำหรับโครงการ“เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) เป็นการใช้กลไกประชารัฐบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน ในการจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการทั้งภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอีก 19 กระทรวง รวมถึงเครือข่ายภาคเอกชนหลายองค์กร นำโดยกลุ่มความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือกลุ่ม PPP Plastics และเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ซึ่งองค์กรและบริษัทเหล่านี้อยู่ในห่วงโซ่พลาสติกที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ โดยจะนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หรืออัพไซคลิ่ง เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคใช้อีกครั้ง ขณะเดียวกันยังช่วยลดปริมาณการใช้ขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวไม่ให้หลุดลอดสู่สิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะ การนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร อีกทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง และส่งเสริมให้ประชาชนใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการสร้างความตระหนักแก่ประชาชน และคืนประโยชน์กลับสู่สังคมไทย อย่างไรก็ดี จะมีการวางแผนขยายเครือข่ายและยกระดับการดำเนินงานจัดการปัญหาขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้น เช่น การคมนาคมขนส่งของประเทศ โครงข่ายอินเตอร์เน็ต และโทรคมนาคมต่างๆ ที่มา: กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ !
"ขยะอิเล็กทรอนิกส์" ภัยเงียบ ที่สังคมมองข้าม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ electronic waste (e-waste) คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายที่เสียหรือไม่มีคนต้องการ ขยะเหล่านี้จะย่อยสลายเองไม่ได้ และเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในบทความนี้ ทางโครงการจะรวมถึงถ่าน แบตเตอรี่ และตลับหมึกพิมพ์ด้วยนะคะ เพราะขยะเหล่านี้ก็เป็นขยะอันตราย ที่มาพร้อมๆ กับขยะอิเล็กทรอนิกส์เลย FUN FACTS ... รู้หรือไม่?? * ปริมาณ E-Waste ทั่วโลกได้พุ่งทะยานสูงขึ้นถึง 20-50 ล้านตัน ต่อปี ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ ถ้าเอาเจ้า E-Waste ยัดเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ในรถไฟ จะมีความยาวประมาณ 1 รอบโลก * ณ ปัจจุบัน E-Waste คิดเป็น 5% ของขยะมูลฝอย และมีปริมาณเกือบเท่ากับ พวกบรรจุภัณฑ์พลาสติกแล้ว แต่ความอันตรายจาก E-Waste มากกว่า พลาสติก หลายเท่าทวีคูณ และที่สำคัญ Asia มีส่วนในการทิ้ง E-Waste ถึง 12 ล้านตัน / ปี * E-Waste ตัวฉกาจ ก็แน่นอนครับ เป็นพวกที่อุปกรณ์ที่มีการ Upgrade ตลอดเวลา และมักจะมายั่วน้ำลายให้เราเปลี่ยนกันบ่อยๆ คือ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์…ส่วนตัวอื่นๆ เช่น ทีวี เครื่องเล่นต่างๆ เครื่องถ่ายเอกสารพวกนี้ยังเป็นตัวเลขที่ไม่น่าตกใจเท่าไหร่ * ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ค่าเฉลี่ยของอายุการใช้งานคอมพิวเตอร์ เปลี่ยนไปจาก 6 ปีในช่วง ปี 1997 เหลือเพียง 2 ปี ตั้งแต่ปี 2005 ส่วนโทรศัพท์มือถือ มีค่าเฉลี่ยการใช้งาน น้อยกว่า 2 ปี และมีแนวโน้มที่จะน้อยลงเรื่อยๆ * และผู้บริโภค รายใหญ่ในวันนี้ คือ ประเทศจีนประมาณ 178 ล้านผู้ใช้งานใหม่ในปี 2010 และอินเดียประมาณ 80 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนกว่า 380,000 ตัน/ปี แต่ขยะเหล่านี้กลับถูกส่งสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธีเพียงร้อยละ 7.1 ส่วนที่เหลือนอกจากจะไปกองรวมกับขยะมูลฝอยอื่นๆ รอการฝังกลบแล้ว ส่วนหนึ่งก็จะกระจายไปสู่พ่อค้ารับซื้อของเก่า ที่จะรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่านำส่งแหล่งคัดแยกขยะที่ไม่ได้มาตรฐานแต่กระจายตัวไปทั่วประเทศกว่า 100 แห่ง ทั้งสารปรอทในหลอดไฟและจอภาพสมัยใหม่ ตะกั่วและดีบุกในลวดบัดกรี แคทเมียมในแผงวงจรพิมพ์ พวกเขาเผาสายไฟเพื่อที่จะแยกทองแดงและโลหะ โดยไม่ได้คำนึงถึงสารพิษที่อาจทำลายปอดและระบบประสาทในระยะยาว ทั้งหมดถูกคัดแยกด้วยสองมือมนุษย์ซึ่งมีอุปกรณ์ป้องกันเป็นเพียงถุงมือและหน้ากากอนามัย และหากรั่วไหลลงพื้นดินและแหล่งน้ำก็พร้อมจะสะสมและส่งต่อไปในห่วงโซ่อาหาร สาร CFCs จากการผ่าตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศรุ่นเก่า ที่จะระเหยขึ้นไปทำลายชั้นโอโซนที่ป้องกันความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่แผ่รังสีให้เราอยู่ในทุกวันนี้ ขยะร้ายยังมีค่า ถ้ารู้จักแยกทิ้ง เพราะซากเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ บางชิ้นส่วนสามารถทำการถอดแยกเพื่อนำไปสกัดแยกโลหะมีค่า เป็นการเพิ่มรายได้ เช่น มีรายงานว่า ญี่ปุ่นสามารถสกัดแยกทองคำ 1 กิโลกรัมได้จากโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 แสนเครื่อง ชิ้นส่วนตัวต้านทานในวงจรคอมพิวเตอร์ สามารถสกัดแยกทองคำและพาลาเดียมได้อย่างละประมาณ 50-100 กรัมต่อซากเครื่องใช้ไฟฟ้าหนัก 1 ตัน รวมทั้งยังได้ทองแดงอีก 200 กิโลกรัม นอกจากนี้ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีส่วนประกอบของโลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ พาลาเดียม และทองแดง แม้ประเทศไทยเอง มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่สามารถรีไซเคิลและสกัดแยกโลหะมีค่าเหล่านี้ออกจากซากอุปกรณ์เหล่านี้ได้ก็ตาม แต่การเตรียมพร้อมด้วยการแยกขยะอันตายเหล่านี้ออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป ก็เป็นการเตรียมตัวอย่างแรกที่ควรทำ เพื่อรอเทคโนโลยีในการจัดการขยะให้เหมาะสมต่อไป ขยะอิเล็กทรอนิกส์กับการรับผิดชอบของภาครัฐและเอกชน ในการจัดการกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้ประสิทธิภาพจะต้องได้รับการร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ผลิตและและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำหน้าอยู่แล้ว ย่อมรู้มาตรการและขั้นตอนการกำจัดขยะเหล่านี้เป็นอย่างดี แต่หากเอกชนไม่มีสำนึกในการรับผิดชอบต่อสาธารณะ ย่อมเลือกที่จะละเลย เพราะการจะกำจัดขยะอันตราย เป็นการเพิ่มขั้นตอน ซึ่งจะไปเพิ่มต้นทุนการผลิตไม่มากก็น้อย ในขณะที่รัฐบาลก็เป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมดูแลปัญหาขยะอันตรายเหล่านี้ได้ด้วยกฎหมาย หลายประเทศต่างก็กำหนดให้ผู้ขายและผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีส่วนรับผิดชอบในการรีไซเคิลขยะจากผลิตภัณฑ์ของตน บ้างก็มีการเก็บภาษีรีไซเคิลกับผู้ซื้อสินค้า เช่นในสหรัฐอเมริกา ราคาสินค้าที่แสดงในร้านค้าจะไม่รวมภาษี และหากเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จะมีค่า Recycle Fee หรือค่าใช้จ่ายในการจัดการรีไซเคิลเพิ่มขึ้นมาด้วย เพราะถือว่าผู้บริโภคได้สร้างขยะที่จัดการยากเลยนับตั้งแต่พวกเขาซื้อมา หรือในญี่ปุ่น ประเทศที่มีระเบียบในเรื่องของการจัดการขยะมาก ผู้คนในประเทศจะต้องเสียค่ารีไซเคิลหากต้องการจะทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทย กับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบไทยๆ ในขณะที่ต่างชาติกำลังหาทางกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเคร่งครัด ประเทศไทยก็มีกฎหมายที่ห้ามประชาชนทิ้งขยะอันตรายเหล่านี้ในที่สาธารณะเช่นกัน แต่แน่นอนว่ากฎหมายหลวมๆ ของไทยนั้นไม่ศักสิทธิ์พอ ทำให้เราสามารถพบเห็นหลอดฟลูออเรสเซนต์อยู่ในถังขยะหน้าหมู่บ้าน หรือถ่านไฟฉายที่มีสารเคมีบางอย่างไหลเยิ้มอยู่ก้นก้นถังขยะในหลายๆ ครัวเรือน ทิ้งเองไม่พอ ยังนำเข้าอีก ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศพยายามส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองสู่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานที่ดีพอ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลที่ถูกกว่า ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เปิดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากนานาชาติตามสนธิสัญญาบาเซิล ที่ว่าด้วยการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมและมีการจัดการอย่างถูกต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่แน่นอนว่ายังมีอีกหลายบริษัทที่นำเข้าและมีวิธีการจัดการอย่างไม่ถูกกฎหมาย เพียงสกัดเอาแร่ที่มีมูลค่าตามต้องการแล้วกำจัดส่วนที่เหลือด้วยการฝังกลบ ส่งผลให้สารพิษกระจายสู่สิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดมลพิษในพื้นที่ใกล้เคียง กรมศุลฯเผยขยะอิเล็กทรอกนิกส์ทะลักไทยเพิ่มหลังจีนประกาศห้ามนำเข้า หลังจากที่จีนออกกฎหมายห้ามนำขยะมีพิษเข้าประเทศ ซึ่งมีผลในปี 2561 ทำให้ประเทศต้นทางเปลี่ยนมาส่งให้ประเทศที่มีใบอนุญาตนำเข้าแทน ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น แต่จำนวนโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยที่ได้มาตรฐานนั้นมีเพียง 20 กว่าแห่งทั่วประเทศ และส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ในภาคกลาง แต่เนื่องด้วยมูลค่าที่ได้จากการแปรรูปขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดการลักลอบนำเข้าขยะอันตรายเหล่านี้เป็นจำนวนมาก บ้างก็ปะปนมากับขยะพลาสติกที่บรรทุกมาเป็นคอนเทนเนอร์ ซึ่งการสุ่มตรวจของเจ้าหน้าที่อาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันขยะเหล่านี้ลักลอบเข้ามาในประเทศไทย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ลดได้ ถ้าเราช่วยกัน คิดก่อนซื้อ เลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่ออายุการใช้งานที่คงทน ใช้ให้คุ้ม ดูแลรักษาให้ดีตามคำแนะนำ ซ่อมแซมเมื่อเสื่อมสภาพ แน่นอนว่าอุปกรณ์หลายๆ อย่างราคาไม่แพง และการทิ้งแล้วซื้อใหม่ก็ง่ายกว่าซ่อมแซมมาก แต่นั่นเป็นการผลักภาระขยะมลพิษให้กับโลกเรา ทางที่ดีควรศึกษาปัญหาแล้วหาวิธีซ่อมแซมจะดีกว่า เดี๋ยวนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ วิธีซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ก็หาได้ง่ายๆ ในยูทูป เป็นการลดทั้งภาระค่าใช้จ่ายและภาระของโลกเราด้วย เลิกวิ่งตามเทคโนโลยี เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกรุ่นใหม่บ่อยมาก เมื่อซื้อใหม่ ของเก่าไร้คุณค่า และกลายเป็นขยะทันที ส่งต่อประโยชน์ บริจาคอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่าสภาพดีที่เราไม่ต้องการแล้วให้คนที่ต้องการ ไม่ทิ้งรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป เพราะขยะอันตรายเหล่านี้หากรั่วไหลลงสู่พื้นดินและแหล่งน้ำจะกลายเป็นสารพิษที่น่ากลัวเลย!! นอกจากนี้ยังเป็นอันตรายต่อคนที่เก็บไปจัดการต่อโดยไม่มีความรู้เพียงพออีกด้วยนะคะ สุดท้าย นำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งในจุดที่กำหนด โดยในส่วนของภาครัฐนั้นสามารถติดต่อทิ้งขยะในสำนักงานเขตต่างๆได้ ส่วนภาคเอกชน มีองค์กรที่ร่วมตั้งจุดทิ้งขยะอันตรายตามห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง อาทิ BigC(บางสาขา), The Mall(บางสาขา), HomePro(บางสาขา), 7-Eleven (บางสาขา) Emporium, Emqurtier เป็นต้น ทำอะไรไม่ได้ ก็เริ่มกันที่เรา แน่นอนว่าหากเราหวังให้ภาครัฐภาคเอกชนเคลื่อนไหว อาจต้องใช้เวลา แต่หากเราทุกคนตระหนักถึงความอันตรายของขยะอิเล็กทรอนิกแล้ว MWT เชื่อว่าต่อจากนี้ เราจะจัดการขยะได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน คิดก่อนซื้อ ดูแลระหว่างใช้ และทิ้งให้ถูกที่นะคะ "ทุกอย่างเริ่มต้นที่เรา" ที่มา : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ https://www.facebook.com/deqpth/videos/284146839498006/?t=3
“New Normal” How to ใช้ชีวิตหลังผ่านวิกฤตโควิด-19
หลังจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก และยังไม่มีวี่แววที่จะหยุดในเร็ววันนี้ คนทั่วโลกรวมไปถึงคนไทยทั่วประเทศ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบใหม่ ถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการ Lockdown แล้วก็ตาม การใช้ชีวิตประจำวันก็ยังคงต้องแตกต่างจากที่เคยเป็นมา หรือที่เราเรียกกันว่า “New Normal” ความปกติแบบใหม่นั่นเอง IPG Mediabrands Thailand มีเดียเอเจนซี่ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ได้คาดการณ์การถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค หลังจากที่วิกฤตโควิต-19 ได้สิ้นสุดลงแล้ว เพื่อให้อุตสาหกรรมและองค์กรต้องตั้งการ์ดรับมือ ได้เกิด 8 พฤติกรรม New Normal ของผู้บริโภค ในยุคของ Distance consumers ที่ธุรกิจทั่วโลกจะต้องสั่นสะเทือน Digitized Chore – งานบ้านหนักๆ ผลักไปบนโลกดิจิทัล พฤติกรรมที่ทุกคนทั่วโลกจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน กักตัวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเว้นระยะห่าง (Social Distancing) เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ จึงทำให้ผู้บริโภคยิ่งยึดติดกับสื่อออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้งออนไลน์ ซื้อของสดออนไลน์ กับ HappyFresh ดูหนังออนไลน์ จึงคาดการณ์ว่ายอดขายของธุรกิจ E-commerce จะพุ่งสูงขึ้นแบบไม่หยุดหย่อน In Home in Style – อยู่บ้านอย่างมีสไตล์ โลกส่วนตัวที่โลดแล่นบนโลกโซเชียลมีเดีย เป็นที่ยอมรับกันว่าทุกวันนี้เราแทบจะขาดสมาร์ทโฟนไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้วิกฤตโควิด-19 กิจวัตรประจำวันจะต้องเกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดียไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผู้บริโภคจะสั่งอาหารที่สะอาด ถ่ายลง Instagram เล่น TikTok แก้เบื่อ Live สดขายของกันมากขึ้น กลายเป็นเรื่อง New Normal ที่เรามักจะพบเจอกันในโลกออนไลน์ Sanitized of Five Senses – สะอาด 5 สัมผัส ความสะอาดยังคงยืนหนึ่ง สินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสุขอนามัยทั้งหลาย ผลิตภัณฑ์รักษาความสะอาดดูจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ผู้บริโภคคาดหวังว่า ร้านค้าจะมีการวางเจลแอลกอฮอล์และมีบรรจุภัณฑ์ที่สะอาดให้พวกเขา อย่างไรก็ตาม การจับจ่ายใช้สอยและชำระสินค้าแบบไร้สัมผัสดูจะเป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัยสำหรับลูกค้า การช้อปปิ้งแบบ E-Payment จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก Tech-finance Literacy – เก่งเทคโนโลยีการเงิน การทำธุรกรรมทางการเงินสมัยนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อนโดยสิ้นเชิง Digital Banking หรือธนาคารแบบออนไลน์ และแอพพลิเคชั่น E-Wallet ถูกออกแบบขึ้นเพื่อความสะดวกและคล่องตัวในการจ่ายเงิน ทำให้สังคมไร้เงินสดได้ย่างกรายเข้ามามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน หลาย ๆ คนอาจไม่พกเงินสดติดตัวเลยด้วยซ้ำ Anxious about Health – วิตกเรื่องสุขภาพ ใครจะไม่รักตัวกลัวตาย สุขภาพต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด การรักษาสุขภาพและสุขอนามัยเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติมากที่สุด การมีวินัยในตนเองอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอาการของโรคและการป้องกันโรค หากเดินทางออกไปนอกบ้าน ควรรีบกลับมาอาบน้ำให้สะอาด สำหรับใครที่ไปพบเจอผู้คน หรือไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยง ก็ควรกักตัว 14 วัน รอดูอาการ การตรวจรักษาและการปรึกษาทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต กับแพทย์ผ่านระบบออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมในตอนนี้ Nouveau Trust – ความเชื่อมั่นในรูปแบบใหม่ ความเชื่อมั่นมาพร้อมกับความเชื่อใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันที่ดูจะเน้นไปในเรื่องของ “สุขอนามัย” เป็นหลัก แบรนด์ที่ได้รับการการันตีทางด้านสุขลักษณะกลายเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อมั่นมากที่สุด ทั้งนี้ข้อมูลทุกอย่างที่ผู้บริโภคต้องการจะเสพ ขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ ฉะนั้นผู้ผลิตจะต้องคำนึงถึงความสะอาดมากขึ้น ไม่เช่นนั้นยอดขายของแบรนด์นั้น ๆ อาจตกฮวบแบบที่ยังไม่ทันตั้งตัว Conversion of Media Appreciation – การเปลี่ยนคุณค่าความนิยมและพฤติกรรมการเสพสื่อ พฤติกรรมและค่านิยมในการบริโภคที่ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ส่งผลให้หลายธุรกิจไม่ได้ไปต่อ ถึงขั้นโดนปิดกิจการก็มี ธุรกิจบางธุรกิจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายในการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่ถูกเชื่อมติดกับโลกออนไลน์และการรักษาสุขอนามัย ผู้บริโภคเริ่มยอมให้ข้อมูลส่วนตัวมากขึ้น ดังนั้น Data Signal และ Geo-location จึงเป็นที่น่าจับตามองสำหรับเจ้าของธุรกิจ Evolving of Home and Duty – การผสานกันของบ้านและหน้าที่ Work From Home ทำให้หลายคนรู้จัก New Normal Life ที่นำเอา Work Life Balance มาปรับใช้ในการทำงาน เนื่องจากเราไม่ต้องเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศมาซักพักแล้ว และยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถกลับไปทำงานแบบเดิมได้เมื่อไหร่ การสร้างความสมดุลในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ทำงานที่บ้านอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ ส่วน Gen Z และ Alpha Generation ที่จะต้องเรียนหนังสือจากที่บ้าน ผ่านระบบ E-Learning สิ่งเหล่านี้จะถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองความสะดวกสบายในทำงานและการเรียนที่มีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล ที่โลกออนไลน์ไม่เคยหยุดนิ่ง ที่มา: https://www.happyfresh.co.th/blog/lifestyle/how-to-live-with-new-normal-after-covid-19
รัสเซียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน น้ำมันดีเซล 20,000 ตันรั่วไหลลงแหล่งน้ำในขั้วโลกเหนือ กระทบระบบนิเวศและสัตว์ขั้วโลกหายาก คาดสาเหตุเพราะชั้นดินน้ำแข็งใต้คลังน้ำมันละลายเพราะโลกร้อน อาจารย์วิทยาศาสตร์ทะเล จุฬาฯ ชี้ ทีมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเจองานหินแน่ เหตุอาร์กติกช่วงฤดูร้อนสั้น มีเวลาทำความสะอาดคราบน้ำมันเพียง 3 เดือน
เพียง 2 วันก่อนหน้าวันสิ่งแวดล้อมโลกในวันนี้ (5 มิถุนายน) สำนักข่าว The Guardian ประเทศอังกฤษ รายงานเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2563 ว่า Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังจากน้ำมันดีเซลกว่า 20,000 ตันรั่วไหลลงแม่น้ำ Ambarnaya ในไซบีเรีย ทางตอนเหนือของรัสเซีย ซึ่งไหลลงสู่มหาสมุทรอาร์กติก เกิดเป็นคราบน้ำมันสีแดงปกคลุมทั่วแม่น้ำและจุดไฟติดได้ น้ำมันรั่วไหลลงแม่น้ำ Ambarnaya // ขอบคุณภาพ: The Siberian Times เหตุเกิดเพราะคลังเก็บน้ำมันในโรงไฟฟ้าใกล้เมือง Norilsk พังทลาย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม แต่บริษัท Norilsk Nickel ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รายงานเหตุการณ์ล่าช้า เป็นเหตุให้กว่ารัฐบาลรัสเซียจะทราบเหตุก็ล่วงเวลาไปแล้วถึง 2 วัน จากภาพความเสียหายจากน้ำมันรั่วที่มีผู้เผยแพร่ไปทั่วบนโซเชียลมีเดีย ด้านสำนักข่าว BBC รายงานว่า ประธานาธิบดี Putin ได้แสดงความไม่พอใจอย่างมาก ที่กว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับรู้เหตุน้ำมันรั่วก็เป็นเวลาล่วงกว่า 2 วันหลังเกิดเหตุแล้ว จนน้ำมันได้รั่วไหลลงแม่น้ำ Ambarnaya กระทบพื้นที่ไปไกลกว่า 12 กิโลเมตร จากจุดเกิดเหตุ เปลี่ยนแม่น้ำเป็นสีแดงเข้ม และปนเปื้อนระบบนิเวศทุ่งทุนดราในเขตขั้วโลกกว่า 350 ตารางกิโลเมตร โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ประธานาธิบดี Putin ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อเร่งส่งกำลังพลเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความสะอาดน้ำมันที่รั่วไหลโดยเร็วที่สุด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยสาเหตุที่คลังเก็บน้ำมันระเบิด สำนักข่าว The Siberian Times เผยว่า จากคำอธิบายของบริษัทผู้รับผิดชอบ สันนิฐานว่า เหตุน้ำมันรั่วครั้งร้ายแรงนี้อาจเกิดจากชั้นดิน Permafrost ทรุดตัว จากสภาพอากาศที่อบอุ่นกว่าปกติ จนทำให้คลังน้ำมันชำรุดและเกิดการรั่วไหล “ชั้นดิน Permafrost ที่รองรับคลังเก็บน้ำมันมากว่า 30 ปีโดยไม่มีปัญหาทรุดตัวกะทันหัน เป็นเหตุให้ถังเก็บน้ำมันดีเซลชำรุดและรั่วไหล” บริษัท Norilsk Nickel ผู้ประกอบการเหมืองแร่นิกเกิลและแพลเลเดียมรายใหญ่แถลง ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว หรือ Permafrost คือลักษณะพื้นดินที่คงสภาพเยือกแข็งอยู่ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่พบได้ทั่วไปในแถบขั้วโลกและภูเขาสูง อย่างไรก็ดี อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัจจุบัน ชั้น Permafrost ทั่วโลกกำลังละลายอย่างรวดเร็ว จนทำให้พื้นดินในบริเวณดังกล่าวทรุดตัว สร้างความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อีกทั้งยังปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลที่กักเก็บไว้สู่ชั้นบรรยากาศ เร่งให้อุณหภูมิโลกยิ่งสูงขึ้น ขณะที่ กรีนพีซ รัสเซีย กล่าวกับสำนักข่าว Forbes ว่า เหตุการณ์นี้นับเป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อาร์กติก ร้ายแรงยิ่งกว่าเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลจากเรือ Exxon Veldes บริเวณชายฝั่งอลาสก้า เมื่อปี พ.ศ.2532 ซึ่งคร่าชีวิตสัตว์กว่าสองแสนตัว แม้ปริมาณน้ำมันรั่วไหลรอบนี้จะปริมาณน้อยกว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้นกว่า 10 เท่า เพราะน้ำมันที่รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมรอบนี้เป็นน้ำมันดีเซลที่มีความเป็นพิษมากกว่าน้ำมันดิบ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงกว่า น้ำมันรั่วที่ไหลลงแม่น้ำ Ambarnaya เปลี่ยนลำน้ำให้กลายเป็นสีแดงทั้งสาย // ขอบคุณภาพ: The Siberian Times ด้าน รศ.สุชนา ชวนิชย์ หัวหน้าภาคและอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิจัยไทยที่เคยเดินทางไปศึกษาผลกระทบสภาวะโลกร้อนที่ขั้วโลกเหนือ แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์นี้ โดยระบุว่า งานทำความสะอาดน้ำมันรั่วไหลในเขตอาร์กติกทำได้ยาก และอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศที่เปราะบางของขั้วโลกเหนือ “เหตุน้ำมันรั่วไหลที่เกิดในเขตหนาวจะเสียหายมากกว่าเวลาเกิดในเขตร้อน เนื่องจากเขตหนาวจะมีฤดูร้อนสั้นแค่ 3 เดือน (มิถุนายน – สิงหาคม) เลยมีช่วงเวลาทำความสะอาดน้ำมันที่รั่วไหลสั้น บางครั้งแม้หน้าร้อนก็ยังมีน้ำแข็งอยู่ ดังนั้นจึงเป็นอุปสรรคให้เก็บกวาดได้ยาก” รศ.สุชนา กล่าว เธอชี้ว่า วิธีทำความสะอาดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล คือต้องนำน้ำมันออกจากพื้นที่ให้มากที่สุด สำหรับกรณีนี้ มีผู้เสนอให้ปล่อยให้น้ำมันดีเซลระเหยเองหรือจุดไฟเผาเพื่อผลาญเชื้อเพลิงทั้งหมด ทว่ารัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมรัสเซียแย้งความคิดดังกล่าวว่าจะเกิดผลกระทบระบบนิเวศที่ยากจะคาดคิดและเสนอให้เร่งศึกษาหาวิธีอื่น “นอกจากผลกระทบต่อพื้นที่แล้ว เหตุน้ำมันรั่วยังกระทบกับสัตว์ขั้วโลกที่เป็นสัตว์หายาก เช่น นกและวาฬ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือนนี้ ซึ่งเป็นหน้าร้อน สัตว์จะอพยพจากบริเวณเหนือลงมาทางตอนกลางและล่างที่อุ่นกว่าเช่นบริเวณที่เกิดเหตุ แม้ว่าโอกาสที่สัตว์สปีชีส์หนึ่งจะสูญพันธุ์ไปเลยจากผลกระทบน้ำมันรั่วครั้งนี้จะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากสิ่งมีชีวิตอาจกระจายอยู่บริเวณอื่นด้วย” เธอกล่าว “ถ้าสัตว์ยังไม่ตาย เราสามารถช่วยอนุบาลพวกมัน เช่น นกปีกมันเต็มไปด้วยน้ำมัน ก็จะทำความสะอาด แต่ถ้าสัตว์ตายและสูญหายไปจากบริเวณนั้นแล้วจะนำมาปล่อยคืนพื้นที่ได้ยาก เพราะสัตว์หลายอย่างที่นั้นเรายังเพาะพันธุ์ไม่ได้และต้องคำนึงว่าเป็นสายพันธุ์ในพื้นที่นั้นไหม” รศ.สุชนา ย้ำว่า สำหรับคนไทยเราอาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เหตุน้ำมันรั่วไหลมีผลกระทบกับธรรมชาติโดยรวมของโลก และพฤติกรรมการใช้พลังงานของเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ “คำถามสำคัญคือทำไมต้องขุดเจาะน้ำมันที่อาร์กติกแต่แรก ถ้าคนไม่ใช้มาก เราคงไม่ต้องไปขุดเยอะ อาร์กติกมีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น ธุรกิจขุดเจาะน้ำมันเลยยังทำได้ค่อนข้างยาก แต่นับได้ว่าเป็นแหล่งขุดเจาะน้ำมันที่ถูกจับตา เพราะมีปริมาณมาก” เธอกล่าว ที่มา: Green New
‹
1
2
3
4
5
6
7
8
›
logo
TEST TECH
บริษัท เทสท์ เทค จำกัด (สำนักงานใหญ่)
30, 32 ซอยพระรามที่ 2 ซอย 63 ถนนพระรามที่ 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
โทร:
02-893-4211-17
,
087-928-5554
แฟกซ์:
02-893-4218
อีเมล:
info@testtech.co.th
,
wanwalee.d@testtech.co.th
บริการของเรา
บริการของเรา
บริการทดสอบ
บริการอื่นๆ
ผลิตภัณฑ์ของเรา
ชุดตรวจวิเคราะห์
เคมีภัณฑ์
บริษัทของเรา
เกี่ยวกับเรา
ทำไมต้องเรา
เครื่องมือของเรา
ร่วมงานกับเรา
ประชาสัมพันธ์
ติดต่อเรา
Member
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
เราใช้คุกกี้ในเว็บไซต์ของเราเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเว็บไซต์ และเพื่อการให้บริการที่ดีที่สุดสําหรับคุณ โปรดอ่านนโยบายการใช้คุกกี้ เมื่อคุณเข้าใช้เว็บไซต์นี้เราถือว่าคุณยินยอมให้จัดเก็บและเข้าถึงคุกกี้บนอุปกรณ์ของคุณ
รายละเอียดเพิ่มเติม
ได้อ่านและยอมรับ
×
ค้นหา
ปิดหน้าต่าง
ค้นหา
Search Result
X
3000
4900
th